เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  บางเขน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  แถลงข่าวผลการดำเนินงานของวช.ประจำปี2562  พร้อมจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณและแสดงความขอบคุณนักวิจัยที่เข้าร่วมงานประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ  โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ สรนิต    ศิลธรรม  ปลัดกระทรวง อว.เป็นประธานในพิธี

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต กล่าวว่า วช.ได้ รวบรวมผลงานเด่นด้านการวิจัยของประเทศมาให้เห็นว่าในรอบปี 2562 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งมีผลงานเป็นจำนวนมาก และมีหลายผลงานที่สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศ คว้ารางวัลระดับนานาชาติมากว่า 100 ผลงาน ทั้งนี้ในปี2562 ปีนี้ถือเป็นปีที่นักวิจัยได้รับผลกระทบมากเนื่องจากการตั้งกระทรวงใหม่ มีกองทุนเกิดขึ้น  และมีการเปลี่ยนระบบการให้ทุนวิจัย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งรัฐมนตรีและรัฐบาลเองก็มีนโยบายที่ชัดเจนมาก ที่จะผลักดันงานวิจัยของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป  และอย่างน้อย ๆที่เห็นชัดเจนแล้วก็คือ งบในการวิจัยและพัฒนาของประเทศในปี 2562 นี้ น่าจะถึง 1.25  %   และหวังว่าจะใกล้เคียง 1.5 % ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์   ทรงศิวิไล  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวว่า ปีนี้ วช. ได้เข้าไปอยู่ภายใต้กระทรวงการ อว.โดยได้รับมอบหมายให้ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน และบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอว. ในด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  ซึ่ง วช.  พร้อมยกระดับการทำงานตามภารกิจใหม่ด้วยหลัก วช. 5G   เพื่อเป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว  พร้อมขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ในด้านการวิจัยของประเทศไทยในปี 2562 มีเรื่องที่สำคัญ  ๆ   เช่น  การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันที่  2 พ.ค. 2562 จากการควบรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม    
การเกิด วช. -5G  วช.โฉมใหม่ ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์  การมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบทบาทของหน่วยงานให้ทุนหรือ PMU   
นอกจากนี้ งบวิจัยและนวัตกรรมของไทย ยังไปถึง 1.25% ของ GDP ประเทศไทย  เกิดฐานข้อมูลกลางการวิจัยของประเทศ  และมีผลงานวิจัยไทยที่สามารถนำใช้ได้จริงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น การปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา    เกิดศูนย์ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 อย่างครบวงจร  และเกิดธนาคารปูม้าทั่วประเทศ   มีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับนานาชาติ
ส่วนโครงการวิจัยท้าทายไทย การวิจัยมุ่งเป้าขนาดใหญ่เพื่อประชาชน  ซึ่งในปี 2562-2564  วช.ได้รับมอบหมายให้ดูแลกว่า 30 โครงการ นั้น มีตัวอย่างความสำเร็จอย่างเช่น โครงการประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ แก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจร อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ลดลงจาก 43% เหลือ 13% ใน 2 ปี   และโครงการ Precision Medicine in Cancer ช่วยให้แพทย์ค้นหาผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ป้องกันหรือคัดกรองมะเร็งในสมาชิกครอบครัว เช่น ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสเกิดมะเร็งรายใหม่ได้ราวปีละ 5,000 ราย
ขณะเดียวกันผลงานวิจัยไทยก็สามารถคว้ารางวัลระดับโลก โดยใน 4 เวทีนานาชาติ ทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี เยอรมัน มาเลเซีย โดยผลงานจากประเทศไทยได้รางวัลเป็นจำนวนมาก เช่น  รางวัลเกียรติยศ (Grand Prize) จากผลงานเรื่อง ระบบควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้เครื่องกังหันก๊าซ แบบอัตโนมัติ ของ กฟผ.  นอกจากนี้ยังมีอีก3 เหรียญทองเกียรติยศ  12 รางวัลพิเศษ   69 เหรียญทอง 128 เหรียญเงิน และ 88 เหรียอญทงแดง
สำหรับปี 2563 ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวว่า สิ่งที่วช.จะขับเคลื่อนมากขึ้นเป็นพิเศษก็คือการทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและเป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจอยากให้ทำ  โดยในกลุ่มของโครงการท้าทายไทย ในปี25693 นี้ เบื้องต้นจะเน้นใน6 เรื่องหลักคือ ฝุ่น  ขยะ จราจร  นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ การแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม และทิศทางของการพัฒนาประเทศในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี  วช.และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จะได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มีผลกระทบ สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บรรลุตามเป้าหมายการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

ที่มา : Dailynews  online 26 ธันวาคม 2562 [https://www.dailynews.co.th/it/748968]