กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ ครม.สัญจร “บึงกาฬ – หนองคาย” จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำหมันแมลงวันผลไม้ 7 พันไร่ ที่ ”หนองวัวซอ” จ.อุดรฯ

ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งออกมะม่วงคุณภาพไปต่างประเทศ สั่ง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ใช้ “รังสี” ควบคุมตั้งแต่ในแปลงปลูกไม่ให้กระทบการส่งออก พร้อมติดตามโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรมที่วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู เตรียมสร้างให้ได้ 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างนวัตกร 15,000 คน
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร จ.บึงกาฬ - หนองคาย เพื่อปฎิบัติราชการ โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู เพื่อเยี่ยมขม “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าไปดำเนินงาน เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” รวมทั้งนำแนวคิดสะเต็มศึกษา ซึ่งประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสต์และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจของศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ศาสตร์สะเต็มศึกษาในการแก้ปัญหาจริงผ่านการเรียนรู้แบบผ่านการตั้งโจทย์และลงมือปฎิบัติจริง
"โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรมเป็นสถานที่ฝึกการเรียนรู้ ทดลองและลงมือสร้างชิ้นงานต่างๆ อันจะนำไปสู่ความเขาใจในศาสตร์ต่างๆ และการสร้างนวัตกรรมต่อไป โดยโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ ห้องเรียนเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ตั้งเป้าจะสร้างให้ได้ 150 แห่งทั่วประเทศในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรให้ได้ 15,000 คน โดยโรงประลองฯ จะมีมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง 10 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, สงขลานครินทร์,บูรพา,ลาดกระบัง,พระจอมเกล้าพระนครเหนือ,พระจอมเกล้าธนบุรี จะสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียน ให้มีการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อขยายผลสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรในอนาคต ที่สำคัญโรงประลองฯ จะเกิดการสร้างงานใหม่ให้กับวิศวกรผู้ช่วย จำนวน150 คนเพื่อส่งไปประจำสถานศึกษาทั่วประเทศและจะกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกใหม่ในอนาคตได้” ดร.สุวิทย์ กล่าว
จากนั้น ดร.สุวิทย์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปลงพื้นที่ไปหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และพบกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะม่วงและผลไม้อื่น พร้อมรับฟังแนวทางการดำเนินการของเกษตรกรพร้อมปัญหาศัตรูพืชจากเกษตรกร จำนวน10 กลุ่ม กว่า 250 คน มีเกษตรกรเครือข่าย 450 หลังคาเรือน โดยพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ประมาณ 7000 ไร่ เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีคุณภาพสำหรับการส่งออก
ทั้งนี้ ในพื้นที่พบปัญหาแมลงวันทองหรือแมลงผลไม้ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของผลไม้ในประเทศไทย นอกจาก หนอนแมลงวันผลไม้ที่ฟักตัวออกมาจะกัดกินภายในผลไม้ทำให้เน่าเสียแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาที่ต่างประเทศกีดกันไม่ให้นำผลไม้จากประเทศไทยผ่านเข้าประเทศปลายทางได้ ยกเว้นผลไม้ที่ผ่านการกำจัดแมลงทางกักกันพืช เช่น การอบไอน้ำ การฉายรังสี การรมด้วยสารเคมี
หลังรับฟังปัญหา ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ตนได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) เข้าไปทำหมันแมลงวันทองในพื้นที่ อ.หนองวัวซอ ให้เป็นพื้นที่นำร่องทำหมันด้วยรังสี ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมแมลงเชิงรุกตั้งแต่ในแปลงปลูกที่ใช้ได้ผลในหลายประเทศและในประเทศไทยมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในหลายพื้นที่ โดยการปล่อยแมลงวันผลไม้สายพันธุ์หลังขาวที่เป็นหมันร่วมกับวิธีอื่น ในพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ พบว่า จำนวนแมลงวันผลไม้สายพันธุ์ปกติจะลดลง 96.02% เพราะจำนวนดักแด้ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการควบคุมแมลงวัน และการใช้แมลงวันสายพันธุ์หลังขาวในการตรวจสอบติดตามประชากรแมลงวัน พบว่า มีความถูกต้องในการจำแนกแมลงที่เป็นหมันออกจากแมลงในธรรมชาติมากกว่า ใช้เวลา และต้นทุนวัสดุน้อยกว่า
"วิธีการนี้ ใช้ได้ผลในหลายประเทศมาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา (ฟลอริดา) เม็กซิโก ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เปรู ชิลี อิสราเอล และในประเทศไทยมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน ได้แก่ ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ อ.ปากช่อง จ.นครราช สีมา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี อ.บ้านฉาง จ.ระยอง อ.สามเหล็ก จ.พิจิตร อ.ขลุง จ.จันทบุรี และ อ.ลอง จ.แพร่ พบว่าสามารถลดความเสียหายผลไม้ของเกษตรกรที่ถูกทำลายโดยแมลงวันผลไม้ ในธรรมชาติได้มาก โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะนำผู้ส่งออกผัก ผลไม้สดไปยังต่างประเทศ จัดทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะ ม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกทันทีถ้าทำสำเร็จ

ที่มา : Manager online 13 ธันวาคม 2561 [https://mgronline.com/science/detail/9610000123712]