นักวิชาการ ห่วงแนวคิดเกษตรกรปลูก “กัญชา” ส่งออก อาจสร้างภาระให้คนปลูก เหตุต้องควบคุมคุณภาพในฐานะพืชยา

แต่หนุนแพทย์แผนไทยปลูกใช้เอง อยู่ระหว่างหารือ ป.ป.ส. ออกระเบียบให้ชัด ด้านประธานบอร์ด อภ. ย้ำ ปลูกกัญชาต้องได้สารสำคัญคงที่ ไม่มียาฆ่าแมลง และโลหะหนักปนเปื้อน ถึงส่งออกได้
ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้แก่องค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้กลุ่มเกษตรกรรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาเพื่อส่งออก ว่า ทุกวันนี้มีการสื่อข่าวออกไปว่า กัญชาสามารถขายได้กิโลกรัมละ 5 แสนบาท และอยากให้ประชาชนทั่วไปปลูกเพื่อส่งออกได้ คำถาม คือ จะสามารถส่งออกได้จริงหรือ และสุดท้ายอาจก่อภาระให้แก่คนปลูกก็ได้ เนื่องจากกัญชาที่จะส่งออกถือเป็นพืชยา ที่จะต้องได้คุณภาพ และการส่งระหว่างประเทศไม่ได้ซื้อกันได้ง่ายๆ จึงต้องถามว่าที่จะให้ปลูกคำตอบคือเพื่ออะไร
“ในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง แคนาดาที่แม้จะให้ประชาชนสูบกัญชาเสรี แต่การปลูกกัญชาไม่ใช่เรื่องเสรี ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท แต่มีรัฐเดียวที่อนุญาตให้ปลูกโดยต้องเป็นคนไข้ และต้องมาขออนุญาตปลูกได้ 6 ต้น เพราะฉะนั้น แม้จะให้สูบเสรีก็คุมการปลุกด้วย นอกจากนี้ วิธีการปลูกต้องได้ตามมาตรฐาน ซึ่งจะปลูกโดยทั่วไปไม่ได้ เพราะหากปลูกลงดินทั่วไปจะเห็นได้ว่า กัญชานั้นจะดูดโลหะหนัก ซึ่งแม้แต่สภาการแพทย์แผนไทยเองก็ยอมรับว่า หากจะให้แพทย์แผนไทยปลูกเพื่อใช้เองในการรักษาผู้ป่วยตามตำรับยา ก็จะต้องปลูกในกระถาง แล้วต้องเลือกดิน แต่จะปลูกลงดินเลยไม่ได้” ผศ.ดร.วิเชียร กล่าว
ผศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่จะให้แพทย์แผนไทยปลูกและใช้ในการรักษาได้นั้น ตนเห็นด้วยว่า ควรที่จะให้แพทย์แผนไทยสามารถทำได้เอง คือ ปลูกเอง ใช้เองได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) อยู่ว่า หากจะให้ปลูกและใช้ได้เองนั้น จะต้องออกระเบียบในการปลูกอย่างไรเพื่อให้เกิดความเหมาะสม แต่ไม่ใช่ปล่อยเสรีว่า ทุกคนจะปลูกได้
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า การปลูกเพื่อส่งออกนั้น จะต้องให้ได้ตามเมดิคัลเกรด เพราะเป้นการส่งออกเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ ดังนั้น สารสำคัญในกัญชาต้องคงที่ ไม่มีโลหะหนัก เพราะกัญชาเมื่อปลูกในดินแล้วจะดูดธาตุโลหะหนักไว้ ที่สำคัญ ยังมีปัญหาเรื่องแมลงอีก ก็ต้องปลูกโดยที่ไม่ให้มียาฆ่าแมลง เพราะหากปนเปื้อนทั้งยาฆ่าแมลง และโลหะหนักเข้าไป ก็ใช้ทำเป็นยาไม่ได้ ซึ่งตนไม่แน่ใว่า หากให้ชาวบ้านปลูกจะขายใครเพื่อทำอะไร ซึ่งตรงนี้ตนมองว่าคงแล้วแต่ทางภาคนโยบาย

ที่มา : Manager online 16 ธันวาคม 2561 [https://mgronline.com/qol/detail/9610000124447]