สธ.ชี้ นักวิทย์ 32 ประเทศ ยัน “โควิด” ติดทางอากาศ ต้องรอ WHO ยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ ระบุ หากติดง่ายทางอากาศ ยอดป่วยสะสมทั่วโลกอาจไม่ใช่แค่ 11-12 ล้านราย ยันกักตัว 14 วัน ส่วนใหญ่ตรวจเจอโควิดวันที่ 5-7 วันที่ 11-13 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ

     วันนี้ (8 ก.ค.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก ยังเป็นขาขึ้น หลายประเทศเกิดการระบาดรอบ 2 เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นบทเรียนสำคัญที่เราต้องระมัดระวัง เนื่องจากเรามีการเปิดกิจการในเฟส 5 ที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์ โชคดียังไม่มีผู้ป่วยเกิดขึ้น แต่ที่เรากังวลและระมัดระวังมาก คือ การเปิดผับบาร์ คาราโอเกะ ร้านเกม อินเทอร์เน็ต อาบอบนวด เป็นสถานที่เสี่ยงทั้งนั้น ต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีคนไปเที่ยวสถานที่เหล่านี้ ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และอาจมาเที่ยวห้าง กินข้าวร้านอาหาร ไปตัดผม ในกิจการที่เปิดแล้ว ดังนั้น ชีวิตวิถีใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ คือ การใช้หน้ากากเป็นประจำ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลดพื้นที่แออัด อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอก 2 อย่างไรก็หลบไม่พ้น ถ้าไม่มีวัคซีน ขึ้นอยู่กับว่าจะมาเร็วหรือช้า อยู่ที่ความเข้มแข็งของสถานเฝ้าระวังในการป้องกันเชื้อจากภายนอก และความร่วมมือในการป้องกันจากคนไทย
เมื่อถามถึงกรณีนักวิทยาศาสตร์ 32 ประเทศ ส่งหนังสือถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า การแพร่เชื้อโควิดเป็นการกระจายทางอากาศ ไม่ใช่ละอองฝอย นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า การติดต่อโรคนี้ คือ สัมผัสสารคัดหลั่ง ไอ จาม สิ่งที่ออกมาจากการไอจาม น้ำมูกน้ำลาย เรียกว่า เป็นละอองฝอย อาจจะมีฝอยละอองบางฝอยที่อาจเล็กและลอยไปไกลหน่อย ส่วนใหญ่แล้วที่เราแนะนำ 1-2 เมตร โดยกิจการที่สัมผัสน้ำมูกน้ำลายเยอะต้องห่าง 2 เมตร แต่หากไม่ใช้เสียง ไม่ตะโกนก็ประมาณ 1 เมตร ส่วนการติดต่อทางอากาศนั้น มีการศึกษารายงานการติดทางอากาศ แต่เป็นระบบปิดเสี่ยงสูง เช่น ห้องไอ.ซี.ยู. ห้องทำหัตถการ ส่วนสถานที่โล่งแจ้งไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมีกระแสลม อากาศถ่ายเท มีแสงแดด ดังนั้น ข้อค้นพบใหม่ ต้องตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการ เพราะถ้าโควิดติดต่อง่ายทางอากาศเหมือนโรควัณโรค ตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกคงไม่ใช่ 11-12 ล้านคน แต่จะมากกว่านี้ ข้อมูลชุดนี้ องค์การอนามัยโลกต้องตรวจสอบข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญ เราก็ต้องฟังข้อมูลชุดนี้ ข้อเท็จจริงเป็นไปได้เพียงใด แต่ยังยืนยันว่า ข้อมูลตอนนี้เป็นฝอยละออง อย่าเพิ่งกังวล
ถามถึงกรณีการตรวจพบเชื้อผู้เดินทางจากต่างประเทศในวันที่ 11-13 นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ระยะฟักตัว คือ คนๆ หนึ่งรับเชื้อโควิดในร่างกาย จนถึงวันเริ่มมีอาการ ค่าเฉลี่ย 2-14 วัน ซึ่งจากคนป่วย 3 พันกว่าคน วิเคราะห์แล้วส่วนใหญ่จะมาวันที่ 5-7 อย่างไรก็ตาม โรคอื่นๆ แพร่เชื้อช่วงมีอาการ แต่โควิดแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ นี่คือ ความน่ากลัว ติดต่อง่าย ดังนั้น การกักกัน 14 วันจึงมั่นใจได้ โดยเมื่อมาถึงหากมีอาการไม่ว่าวันใดก็ตามในการกักตัวจะตรวจทันที แต่หากไม่มีอาการจะตรวจครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 3-5 ตรวจอีกครั้งช่วงวันที่ 11-13 เพื่อให้ได้ผลมาวันที่ 14 และวันที่ 15 ให้กลับบ้านได้ ส่วนใหญ่ที่พบวันที่ 11-13 มักไม่มีอาการ บางรายถามกลับไป เคยมีอาการระหว่างอยู่ประเทศต้นทาง เช่น เคสอินเดียในวันนี้ มีอาการระหว่างอยู่ที่อินเดียตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. คือ ไม่สามารถรับรู้กลิ่น กลับมาวันที่ 24 มิ.ย. ครั้งแรกตรวจไม่เจอ ตรวจครั้งที่ 2 ก็เข้าวันที่ 12 แล้ว แต่ไม่มีอาการ ที่ตรวจเจออาจเป็นซากเชื้อก็ได้ เพราะหลังวันที่ 8 ของการรักษา ส่วนใหญ่แล้วเชื้อจะตายไม่สามารถเพาะเชื้อขึ้น

ที่มา : Manager online 8 กรกฏาคม 2563  [https://mgronline.com/qol/detail/9630000069942]