นักชีววิทยา จุฬาฯ โชว์ “กะท่างน้ำดอยภูคา” ตัวชี้วัดสุขภาพสิ่งแวดล้อม ชนิดใหม่ของโลก หลังตามหามากว่า 20 ปี

     นักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ภาพการค้นพบใหม่ “กะท่างน้ำดอยภูคา” กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก จากอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน บนแนวเทือกเขาหลวงพระบาง เป็นตัวชี้วัดสุขภาพป่าที่สมบูรณ์และไร้สารเคมีปนเปื้อน
อาจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยคณะทำงานได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ และ อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ อาจารย์จากภาควิชาเดียวกัน และได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้สนับสนุนจากประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้การสนับสนุนการสำรวจโดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน
คณะวิจัยสนใจการค้นพบกะท่างน้ำ บริเวณดอยภูคา ที่มีเรื่องเล่าการพบเห็นในนิตยสารบางฉบับมามากกว่า 20 ปีแล้ว คณะนักวิจัยจึงสนใจที่ค้นคว้าเพิ่มเติมว่า กะท่างที่พบนั้นยังมีอยู่หรือไม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่ โดยขออนุญาตและได้รับความอนุเคราะห์จาก นายฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และมี นายพศิน อิ่นแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานท่านอื่นๆ เป็นผู้นำเส้นทาง
“จากลักษณะทางกายภาพของ กะท่างน้ำดอยภูคา ที่มีสีน้ำตาลแถบส้ม รวมทั้งการตรวจแถบรหัสพันธุกรรม (DNA banding) ทำให้คณะนักวิจัยทราบได้ว่า สัตว์ตัวนี้ถือเป็นกะท่างน้ำสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่สำคัญยังได้รับรู้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นป่าบริเวณนี้อีกด้วย เพราะกะท่างน้ำดอยภูคา เป็นสัตว์ที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพสิ่งแวดล้อมของผืนป่าในบริเวณที่พบได้เป็นอย่างดี จากธรรมชาติของ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของกะท่าง จะอยู่อาศัยได้ในบริเวณผืนป่าสมบูรณ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ถูกทำลาย รวมถึงพื้นที่นั้นๆ ต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อน 100% เท่านั้น"
"คณะนักวิจัยและคณะผู้นำทาง ต้องปีนขึ้นบนยอดดอย ที่สูงชัน ผ่านป่าดิบที่สมบูรณ์ เพื่อค้นหาแอ่งน้ำ ที่เป็นแหล่งอาศัยของกะท่าง จนไปถึงแอ่งน้ำบนดอยหญ้าหวาย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,795 เมตร โดยธรรมชาติของกะท่างนั้นจะอาศัยในแอ่งน้ำบริเวณหุบบนยอดเขามีขนาดประมาณ 200 ตารางเมตร และเป็นน้ำที่ปกคลุมด้วยหญ้าที่มีความสูงไม่มากนัก มีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่กลางแอ่งน้ำและนอกจากนั้นยังมีขอนไม้ล้มที่มีโพรงจมอยู่กับพื้นของแอ่งน้ำที่มีความลึกไม่มากนัก หรือประมาณครึ่งหน้าแข้ง” ดร. ปรวีร์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า

การตั้งชื่อกระท่างน้ำที่เพิ่งค้นใหม่นี้ว่า “กระท่างน้ำดอยภูคา” เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่พบสัตว์ชนิดนี้คืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tylototriton phukhaensis และจัดเป็นกะท่างน้ำชนิดที่ 5 ที่มีรายงานการตั้งชื่อในประเทศไทย
“กะท่างน้ำดอยภูคา” จัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในวงศ์กระท่างน้ำ หรือซาลาแมนเดอร์ (Family Salamandrida) โดยสัตว์ในวงนี้เป็นสัตว์เทินน้ำสะเทินบกที่มีลักษณะที่สำคัญคือมีสีน้ำตาลแถบส้ม มีขาสี่ข้าง มีหางยาว
มีความแตกต่างจากกลุ่มสัตว์ที่เราคุ้นเคยอย่างกบ เขียด คางคก ซึ่งเป็นญาติที่มีความใกล้ชิดกันกับกระท่างน้ำ สัตว์ในกลุ่มนี้มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อวัดจากปลายจมูกถึงปลายหางประมาณ 10 เซนติเมตร มีรูปร่าง 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 เรียกว่า นิวท์ (newt) มีลักษณะของผิวหนังที่ไม่เรียบ มีต่อมน้ำพิษปรากฏอยู่บนผิวหนังด้านหลัง บริเวณลำตัวและหัวมีสันที่ปรากฏอย่างชัดเจน มีสีสันบนลำตังไม่มากนัก ที่พบเด่นชัดคือ สีส้ม ที่ปรากฏตามสันของร่างกาย ปลายขาและปลายหาง

แบบที่ 2 เรียกว่า ซาลาแมนเดอร์ (salamander) มีลักษณะของผิวหนังเรียบลื่น อาจจะมีของต่อมน้ำพิษปรากฏอยู่หลังลูกตา ลำตัวมีร่องอยู่ด้านข้างระหว่างขาหน้าและขาหลัง ซึ่งจะไม่ปรากฏในกลุ่มนิ้วท์ พวกซาลาแมนเดอร์ไม่พบในประเทศไทย
สถานภาพของประชากรกระท่างน้ำในสถานที่ค้นพบ นักวิจัยระบุว่าปัจจุบันมีรายงานการค้นพบกระท่างน้ำเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจในบริเวณอื่นของเทือกเขาหลวงพระบาง ทางฝากล้านนาตะวันออกซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับถิ่นที่อยู่อาศัยของกะท่างน้ำในประเทศไทยนั้นมีขอบเขตการกระจายค่อนข้างจำกัด คือ จะพบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 1,000 เมตร และอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น แอ่งน้ำสะอาดและป่าปกคลุมที่ยังคงเป็นธรรมชาติ ดังนั้นกะท่างน้ำ สามารถใช้เป็นตัวขี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึง “สุขภาพ”ของสิ่งแวดล้อมได้
การศึกษาในครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้แสดงความขอบคุณต่อ นายฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่อนุญาตให้เข้าสำรวจ และนายพศิน อิ่นวุธ และเจ้าหน้าของอุทยานฯ ที่ได้นำทาง อาจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเชฏฐ์ คนซื่อ และ อ.ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ และได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนการสำรวจโดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน
“บริเวณดังกล่าว ค้นพบกะท่างน้ำดอยภูคา ปีนอยู่ตามกอหญ้า ขอนไม้และก้อนหินกลางแอ่งน้ำ มากกว่า 50 ตัว และส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ เมื่อสำรวจทั้งแอ่งน้ำและริมตลิ่ง พบว่ากะท่างน้ำดอยภูคากำลังมุ่งหน้าเข้าผืนป่า คาดเดาว่าเป็นช่วงปลายของฤดูผสมพันธุ์ ธรรมชาติของกะท่างน้ำ เมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะวางไข่หลัง และทิ้งไข่ปล่อยให้ปรับตัวไปตามธรรมชาติ ส่วนตัวพ่อและแม่นั้นจะมุ่งหน้ากลับผืนป่า เพราะโดยธรรมชาติของ กะท่างจะใช้ชีวิตอยู่บนบกยกเว้นช่วงเวลาผสมพันธุ์เท่านั้น ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย” ดร. ปรวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : Manager online 6 กรกฏาคม 2563  [https://mgronline.com/science/detail/9630000068938]