ลูกพลับ ผลไม้ประจำฤดูใบไม้เปลี่ยนสีของญี่ปุ่น ได้รับการวิจัยพบว่าสาร “แทนนิน” ในลูกพลับยับยั้งการขยายตัวของไวรัสโควิดได้ เตรียมส่งเสริมให้เกษตรญี่ปุ่นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต้านไวรัส

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นาราเปิดเผยว่า สารแทนนิน ซึ่งเป็นสารเคมีตามธรรมชาติที่พบลูกพลับมีประสิทธิผลในการยับยั้งไวรัสโควิด แต่จะต้องมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ พร้อมเสนอให้พัฒนาเป็นลูกอมและเครื่องดื่มเพื่อต้านไวรัส
คณะนักวิจัยได้ทำการทดลองโดยเตรียมสารละลายที่จำลองสภาพคล้ายกับช่องปากของมนุษย์ โดยใช้น้ำลายและสารอื่นๆ ผสมกัน จากนั้นก็เติมเชื้อไวรัสลงไปในสารละลายดังกล่าว และสารละลายที่ผสมแทนนินที่เป็นสารที่พบในลูกพลับเพื่อเปรียบเทียบกัน
ผลการทดลองพบว่า สารแทนนินทำให้จำนวนเชื้อไวรัสที่ขยายตัวได้ลดน้อยลง แสดงว่าสารแทนนินมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด
แต่ทว่า สารแทนนินที่มีสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้จะต้องมีความเข้มข้นมากกว่าที่พบในลูกพลับตามธรรมชาติ โดยหากลดความเข้มข้นลงจนถึงระดับหนึ่งก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัส
คณะนักวิจัยของญี่ปุ่นสันนิษฐานว่า สารแทนนินจะไปเกาะที่ผิวของเชื้อไวรัส ทำให้เชื้อไม่สามารถเข้าไปยังเซลล์ภายในช่องปากและลำคอได้ โดยมีประสิทธิภาพในการต่อต้านทั้งไวรัสไข้หวัดและไวรัสโควิด อย่างไรก็ตามยังไม่มีการทดลองในมนุษย์จริงเพื่อยืนยันผลที่ชัดเจน
แทนนินเป็นสารที่มีรสฝาด พบได้ในพืชหลายชนิด เช่น ใบชา ใบฝรั่ง ใบพลู และในผลไม้ดิบ เช่น ลูกพลับดิบ กล้วยดิบ องุ่น รวมทั้งในเปลือกมังคุด เปลือกมะพร้าวอ่อน และพบในไวน์แดงด้วย
แทนนินเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคท้องเสีย และมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย
อย่างไรก็ตาม แทนนินก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร หากรับประทานในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ท้องผูก นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ จากอาหารที่รับประทาน มีผลต่อการลดการดูดซึมสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย อาจทำให้ขาดสารอาหารได้.

ที่มา : Manager online 18 กันยายน 2563 [https://mgronline.com/japan/detail/9630000095441]