ฝูงปศุสัตว์เล็มหญ้าท่ามกลางหมอกควันจากไฟป่าที่เปลี่ยนสีท้องฟ้าเป็นสีแดง (AFP / Peter Parks)

นักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาพบไฟป่าออสเตรเลียทำสัตว์ตายเกือบ 3 พันล้านตัว นับเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในโลกยุคใหม่

.

เอเอฟพีรายงานว่านักวิทยาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้ศึกษาผลกระทบจากไฟป่าที่มีต่อสัตว์ป่า และได้ข้อสรุปว่า ไฟป่าคร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 143 ล้านตัว สัตว์เลื้อยคลาน 2.46 พันล้านตัว นก 180 ล้านตัว และกบอีก 51 ล้านตัว

.

ทว่ารายงานไม่ได้ระบุว่า มีสัตว์ป่ามากเท่าไรที่เสียชีวิตจากไฟป่าโดยตรง แต่ คริส ดิคแมน (Chris Dickman) หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาได้ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีสัตว์ป่าที่รอดชีวิตจากเปลวเพลิงได้ แต่สัตว์ป่าเหล่านั้นก็ไม่ได้รอดไปได้ด้วยดี เพราะยังต้องเผชิญการขาดแคลนอาหาร ไร้ถิ่นอาศัยและหลบภัยจากนักล่า

.

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี ค.ศ.2019 และต้นปี ค.ศ.2020 ไฟป่าออสเตรเลียทำลายทุ่งไม้พุ่ม (bushland) และป่าที่เต็มไปด้วยกิ่งไม้แห้งเป็นพื้นที่มากกว่า 115,000 ตารางกิโลเมตรทั่วออสเตรเลีย และยังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าอีกมากกว่า 30 ราย ส่วนบ้านเรือนของผู้คนถูกไฟป่าทำลายไปหลายพันหลัง

.

เหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นฤดูกาลไฟป่าที่กินพื้นที่กว้างและยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของออสเตรเลีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่าของรุนแรงของวิกฤตไฟป่านี้เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)

.

ลิลี ฟาน อีเดน (Lily van Eeden) นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ระบุว่า การศึกษาก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค.ประเมินว่าไฟป่าได้คร่าสัตว์ไปหลายพันตัวในรัฐทางตะวันออกของนิวเซาท์เวลส์ที่ถูกไฟป่าทำลายรุนแรงที่สุด แต่การสำรวจล่าสุดที่เพิ่งเผยผลการศึกษาออกมานี้ เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ครอบคลุมพื้นที่ไฟป่าทั่วแผ่นดินใหญ่

.

อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจยังอยู่ระหว่างการแปลผล โดยรายงานฉบับเสร็จสมบูรณ์จะเผยแพร่ในเดือนหน้า แต่ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า จำนวนสัตว์ 3 พันล้านตัวที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าก็ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก.

ทางด้าน เดอร์มอท์ โอกอร์แมน (Dermot O'Gorman) กรรมการผู้บริหารสาขาออสเตรเลียของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) หรือ WWF ซึ่งเป็นคณะกรรมการรายงานการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าระหว่างการค้นพบนั้นเป็นเรื่องน่าตกใจ และยังยากที่จะนึกถึงเหตุการณ์อื่นใดที่มีการฆ่าหรือกำจัดสัตว์ไปมากมายขนาดนี้

.

“เหตุการณ์นี้จัดเป็นหนึ่งในพิบัติภัยของสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน” กรรมการผู้บริหารของ WWF สาขาออสเตรเลียกล่าว

.

สถานการณ์อันย่ำแย่ของโคอาลาระหว่างเกิดไฟป่าทำให้สื่อนานาชาติพุ่งความสนใจไปที่สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ และเชื่อว่ามีโคอาลาหลายพันตัวต้องตายจากไฟป่า แต่รายงานของรัฐบาลเมื่อต้นปีนี้ระบุว่ายังมีสัตว์และพืชเฉพาะถิ่นอีก 100 สปีชีส์ที่สูญเสียถิ่นอาศัยไปกับเปลวไฟ ซึ่งทำให้เห็นภาพความสูญเสียมากกว่าที่คิดไว้

.

นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูร้อนของออสเตรเลียยาวนานขึ้น และยิ่งเพิ่มความอันตราย ขณะที่ฤดูหนาวก็สั้นลง ยิ่งทำให้เตรียมการป้องกันไฟป่าทุ่งพุ่มไม้ได้ยากยิ่งขึ้น

.

รายงานวิจัยครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันศึกษาของทีมนักวิทยาศานตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (University of Newcastle) มหาวิทยาลัยชาร์ลสสเติร์ต (Charles Sturt University) และกลุ่มอนุรักษ์นกเบิรืดไลฟ์ออสเตรเลีย (BirdLife Australia)

.

ฝูงปศุสัตว์เล็มหญ้าท่ามกลางหมอกควันจากไฟป่าที่เปลี่ยนสีท้องฟ้าเป็นสีแดง (AFP / Peter Parks)

ภาพชาวเมืองออสเตรเลียพยายามดับไฟป่า (AFP / Peter Parks)

ภาพทางอากาศเผยควันพวยพุ่งจากไฟป่าที่หุบเขาริชมอนด์ นิวเซาท์เวลส์ เมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.2019 (AFP / Saeed Khan)

ที่มา : https://mgronline.com/science/detail/9630000077230