การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แบบผสมสูตร โดยเอาวัคซีนต่างชนิดมาฉีดให้เป็นเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายนั้น กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในแวดวงวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทั่วโลก

รัฐบาลหลายประเทศได้เริ่มใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคโควิดกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ เช่น เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้เข้ารับวัคซีนโดสที่ 2 เป็นของโมเดอร์นา หลังจากที่ได้รับวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรกไปเมื่อเดือน เม.ย.
.
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากเมื่อเดือน มี.ค. เยอรมนี และประเทศยุโรปอื่น ๆ หยุดการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลังพบปัญหาการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่งผลให้หลังจากนั้น หลายชาติยุโรป อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรีย สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก หันมาฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไปก่อนหน้านี้
.
ผลทดลองขั้นต้นพบว่าได้ผลดี
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการผสมวัคซีนต่างชนิดกันอาจเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะยืนยันเรื่องนี้ได้แน่ชัด
.
ผลการทดลองชิ้นหนึ่งในสหราชอาณาจักร เมื่อเดือน พ.ค. บ่งชี้ว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มมีผลข้างเคียงน้อยถึงปานกลาง หลังจากได้รับวัคซีนซีนแอสตร้าเซนเนก้าผสมกับไฟเซอร์ โดยอาการที่พบบ่อยคือหนาวสั่น ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ
.
นักวิจัยพบว่าปฏิกิริยาเชิงลบจากการให้วัคซีนผสมกันเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้น ๆ และไม่มีข้อน่ากังวลเรื่องความปลอดภัยอื่น การทดลองดังกล่าวชื่อ The Com-Cov เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.พ. เพื่อดูว่าการใช้วัคซีนต่างชนิดผสมกันจะทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในได้นานขึ้นหรือไม่ และจะป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ดีกว่าเดิมหรือเปล่า ซึ่งผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า การให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส และไฟเซอร์ 1 โดส ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีแอนติบอดีสูงกว่าการได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส
.
ผลในขั้นต้นของการทดลองที่ชื่อ Spanish CombivacS กับอาสาสมัครกว่า 600 คนในประเทศสเปน ที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ก็พบหลักฐานบ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรกนั้น ดูเหมือนจะให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองเริ่มผลิตแอนติบอดีในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับโดสกระตุ้นภูมิของไฟเซอร์
.
นักวิจัยพบว่า ในการทดลองในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) แอนติบอดีที่ได้ดังกล่าวสามารถจดจำและเข้าทำลายเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ได้ ส่วนกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับแอนติบอดี
.
เมื่อ 2 ก.ค. เยอรมนีได้ออกข้อแนะนำอย่างหนักแน่นที่สุดให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้าควรรับวัคซีนประเภท mRNA เช่นของไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านทานเชื้อไวรัส โดยอ้างอิงผลการศึกษาวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าการฉีดวัคซีนแบบผสมสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าอย่างชัดเจน
.
ท่าทีดังกล่าวทำให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ประกาศข้อแนะนำอย่างหนักแน่นให้ประชาชนฉีดวัคซีนแบบผสม
.

ท่าทีองค์การอนามัยโลกหลังไทยประกาศฉีดผสม
12 ก.ค. คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทยซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา
.
หลังข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ในวันเดียวกัน ดร. ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก จนไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
.
แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ดร. ซุมยาได้ทวีตข้อความอธิบายความเห็นของเธอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนผสมสูตรว่า หากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้
.
"ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้ (การรับวัคซีนสลับชนิด) แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่" ดร. ซุมยาระบุ "เรายังต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนผสมสูตร ทั้งข้อมูลในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องประเมิน"
.

ประเทศไหนทำบ้าง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ 13 ก.ค. ถึงรายชื่อประเทศที่กำลังพิจารณาใช้วัคซีนต่างชนิดร่วมกันเพราะความขาดแคลน และก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
.
บาห์เรน รัฐบาลแถลงเมื่อ 4 มิ.ย. ว่า คนที่เข้าเกณฑ์ขอฉีดวัคซีนสามารถขอเข้ารับวัคซีนกระตุ้นโดสที่สองเป็นของไฟเซอร์ หรือซิโนฟาร์ม ก็ได้ ไม่เกี่ยวว่าพวกเขาจะรับวัคซีนเข็มแรกของอะไรมา
.
ภูฏาน นพ.โลเท เชอร์ริง นายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อ 24 มิ.ย.ว่ารู้สึกสบายใจที่จะใช้การฉีดวัคซีนต้านโควิดแบบผสมสูตร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ประชาชน
.
แคนาดา สถานีโทรทัศน์ซีบีซีนิวส์ (CBC News) รายงานว่า คณะที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติระบุเมื่อ 17 มิ.ย. ว่า รัฐต่าง ๆ ของแคนาดาควรเสนอให้วัคซีนชนิดอื่นสำหรับโดสสองสำหรับผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วในโดสแรก
.
ทางการรัฐออนแทรีโอ และรัฐควิเบก ระบุว่าจะใช้วัคซีนต่างชนิดรวมกันขณะที่เกิดความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและความกังวลเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
.
จีน นักวิทยาศาสตร์จีนกำลังทำการทดลองขนาดเล็กในขั้นต้น เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านโควิด 1 โดสของบริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) ผสมกับวัคซีนอีก 1 โดสของบริษัทยาชีววัตถุฉงชิ่ง จื้อเฟย (Chongqing Zhifei Biological Products)
.
นอกจากนี้ นักวิจัยจีนยังทำการทดลองฉีดวัคซีน 1 โดสของแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ เป็นโดสกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว 1 หรือ 2 โดส
.

อินโดนีเซีย ทางการเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่บุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ หลังจากมีเจ้าหน้าที่การแพทย์ในแนวหน้าเสียชีวิตและติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายบูดี ซาดิกิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุของอินโดนีเซีย กล่าวว่า วัคซีนของโมเดอร์นาจะส่งมาถึงอินโดนีเซียในวันที่ 11 ก.ค.นี้ และทางการจะเริ่มให้วัคซีนได้เร็วที่สุด
.
อิตาลี ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ที่ได้แอสตร้าเซนเนก้าไปโดสแรก จะได้รับวัคซีนอื่นเป็นโดสที่สอง
.
รัสเซีย สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ บอกว่า กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund - RDIF) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาสปุตนิก วี แถลงเมื่อ 4 มิ.ย. ว่า รัสเซียอาจจะเริ่มการทดลองให้วัคซีนสปุตนิก วี ร่วมกับวัคซีนอื่น ๆ ของจีน ในกลุ่มประเทศอาหรับ
.
นอกจากนี้ อินเตอร์แฟกซ์ยังรายงานด้วยว่า จากการทดลอง ยังไม่พบผลข้างเคียงจากการให้วัคซีนสปุตนิก วี รวมกับแอสตร้าเซนเนก้า แต่อย่างใด
.

.

เกาหลีใต้ ด้วยความล่าช้าของโครงการแบ่งปันวัคซีนโคแวกซ์ เกาหลีใต้ระบุเมื่อ18 มิ.ย. ว่าประชาชนราว 7.6 แสนคนที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรกไปแล้วจะได้รับวัคซีนของไฟเซอร์เป็นโดสที่สอง
.
ไทย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยให้ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ได้รับการฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา
.
นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ยังมีมติรับทราบเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือบูสเตอร์โดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยวัคซีนกระตุ้นภูมิจะเป็นของแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นชนิดชนิดไวรัลเวกเตอร์เป็นหลัก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนแวค ผู้เชี่ยวชาญไทยพบว่าการให้วัคซีนคนละชนิดจะมีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น
.
ในเวลาต่อมา แพทย์อาวุโสศิริราช-จุฬาฯ หนุนมติคณะกรรมการโรคติดต่อที่ให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบผสมสูตร โดยยืนยันว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในไทยและมีผลการศึกษารองรับ
.
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางการบอกว่าจะมีวัคซีนไฟเซอร์ให้สำหรับคนที่ได้วัคซีนซิโนฟาร์มเป็นเข็มแรก
.
เวียดนาม ทางการระบุเมื่อ13 ก.ค. จะฉีดวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ เป็นโดสที่ 2 ให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก
.
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-57586784