อาหารเป็นสิ่งที่เชื่อมสัมพันธ์และมิตรภาพลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสุนัขมานานนับหมื่นปี แม้ในทุกวันนี้เราก็ยังแสดงความรักด้วยการให้อาหารและขนมกินเล่นสารพัดชนิดกับเจ้าตูบตัวโปรด

แต่ทว่าผลการทดลองล่าสุดจากทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ทำให้น่าสงสัยว่า พฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างเรากับน้องหมาในลักษณะนี้ จะเป็นเพียงความรักข้างเดียวเท่านั้น เพราะไม่มีวี่แววว่าสุนัขจะแบ่งปันอาหารเป็นการตอบแทนน้ำใจให้แก่มนุษย์เลย
.
ทีมนักวิจัยจิตวิทยาสัตว์เชิงเปรียบเทียบ ประจำมหาวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์กรุงเวียนนาของออสเตรีย เผยว่าได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมแบบต่างตอบแทนระหว่างมนุษย์กับสุนัขขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยนำสุนัขเลี้ยงตามบ้านต่างสายพันธุ์ 37 ตัว ที่มีอุปนิสัยใจคอแตกต่างกันอย่างหลากหลาย มารับการฝึกให้รู้จักกดปุ่มเพื่อให้ได้ของกินจากเครื่องจ่ายอาหารอัตโนมัติ
.
เมื่อสุนัขรู้จักกดปุ่มดังกล่าวแล้ว ทีมผู้วิจัยได้นำพวกมันไปไว้ในห้องร่วมกับคนแปลกหน้า โดยมีตาข่ายกั้นกลางระหว่างคนกับสุนัขซึ่งสามารถมองเห็นกันได้ ในวันแรกคนจะเป็นฝ่ายครอบครองปุ่มกดจ่ายอาหารแต่เพียงผู้เดียว และจะกดปุ่มนั้นให้สุนัขที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้กินอาหารหลายครั้ง ในวันต่อมาคนแปลกหน้าอีกคนหนึ่งจะมาแทนที่ และกดปุ่มจ่ายอาหารที่ไม่ทำงานให้สุนัขเห็นหลายครั้ง ทำให้วันนี้สุนัขไม่ได้รับอาหารจากมนุษย์แต่อย่างใด
.

ในการทดลองครั้งต่อมา มีการสลับปุ่มกดให้อาหารไปอยู่ที่ฝั่งสุนัข ในขณะที่ฝั่งของคนแปลกหน้ากลุ่มเดิมมีเพียงเครื่องจ่ายลูกอมช็อกโกแลตอัตโนมัติตั้งอยู่ ซึ่งผลปรากฏว่าสุนัขจะกดปุ่มให้ลูกอมกับคนหรือไม่ ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าคนผู้นั้นเคยให้อาหารมันมาก่อนหรือเปล่า สุนัขยังไม่เลือกเข้าหาหรือเมินหน้าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ระหว่างที่พักเล่นอย่างอิสระร่วมกันด้วย
.
ผลการทดลองดังกล่าวน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะมีผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่า สุนัขมีพฤติกรรมต่างตอบแทนกับสุนัขด้วยกัน โดยมีการแบ่งปันอาหารให้กับเพื่อนฝูงเพื่อหวังการตอบแทนในวันข้างหน้า แต่ก็น่าประหลาดใจว่ายังไม่พบรายงานถึงพฤติกรรมลักษณะนี้ระหว่างสุนัขกับมนุษย์ แม้จะเคยพบว่าสุนัขมีความรู้สึกเห็นใจสงสาร จนสามารถเข้าช่วยเหลือคนที่กำลังประสบภัยได้หลายครั้งก็ตาม
.
ดร.จิม แม็กเกทริก ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "วิวัฒนาการของสุนัขที่เข้ามาอยู่ร่วมกับคนในฐานะสัตว์เลี้ยง อาจเป็นความสัมพันธ์ในเชิงความร่วมมือ แบบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิธีการยื่นหมูยื่นแมวซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างตอบแทนกัน แบบฉันช่วยเธอแล้วเธอจะช่วยฉันในวันข้างหน้า"
.
"สุนัขอาจไม่มีความคิดที่ว่าตนเองต้องเป็นผู้ให้อาหารกับมนุษย์ ความสัมพันธ์ของทั้งสองอยู่ในลักษณะนายกับบ่าว มากกว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันและต้องช่วยเหลือตอบแทนกัน"
.
"การทดลองอาจมีข้อจำกัด ทำให้สุนัขไม่เข้าใจถึงกระบวนการทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น เพราะมันรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยการดมกลิ่นมากกว่าการมองเห็น ครั้งต่อไปเราอาจทดลองซ้ำกับสุนัขตำรวจหรือสุนัขช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าผลการทดลองครั้งนี้ถูกต้องเชื่อถือได้" ดร. แม็กเกทริก กล่าว
.
ที่มา : BBC News bbc.com/thai/international-57875243