ดร.อัลเบิร์ต บัวร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไฟเซอร์ บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ระดับโลก ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ผู้คนอาจจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นประจำทุกปีในช่วงอีกหลายปีข้างหน้า เพื่อรักษา "ระดับการป้องกันให้สูง" ไว้

ดร.บัวร์ลา ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีก่อนหน้าที่จะมีการตรวจพบโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ และก่อนหน้าที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะประกาศลงนามในข้อตกลงซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 114 ล้านโดส (ไฟเซอร์ 54 ล้านโดส และโมเดอร์นา 60 ล้านโดส) สำหรับส่งมอบในปี 2022 และ 2023
.
ข้อตกลงนี้รวมถึงการปรับสูตรวัคซีนในกรณีที่จำเป็นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโอไมครอน และเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่น ๆ ในอนาคต
.
ดร.บัวร์ลา ระบุว่า ที่ผ่านมาไฟเซอร์ได้ปรับปรุงวัคซีนเพื่อรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เบตาและเดลตา แต่ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สูตรที่ได้รับการปรับปรุงเหล่านี้
.
ปัจจุบัน ไฟเซอร์กำลังดำเนินการเพื่อปรับปรุงวัคซีนต้านโควิดเพื่อรับมือกับเชื้อโอไมครอน และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 100 วัน
.

ดร.อัลเบิร์ต บัวร์ลา ระบุว่า ผู้คนอาจจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดเป็นประจำทุกปีในช่วงอีกหลายปีข้างหน้า เพื่อรักษา "ให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง"
.
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ผู้คนจะต้องได้รับวัคซีนต้านโควิดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปีหรือไม่
.
ศาสตราจารย์ อดัม ฟินน์ สมาชิกคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (Joint Committee on Vaccination and Immunisation หรือ JCVI) ของสหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีว่า "เป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่า เราทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิอย่างต่อเนื่องไปตลอดหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่าเชื้อไวรัสมีการพัฒนาไปมากเท่าใด"
.
เขาอธิบายว่า "เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี และเราจะต้องปรับสูตรวัคซีน และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้คนกลุ่มเสี่ยง..ดังนั้น กรณีแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิเป็นประจำทุกปีหรือไม่"
.

ดร.บัวร์ลา ของไฟเซอร์ กล่าวว่า วัคซีนได้ช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับล้านในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และหากไม่มีวัคซีน "โครงสร้างพื้นฐานของสังคมเราจะตกอยู่ในอันตราย"
.
ภายในสิ้นปีนี้ ไฟเซอร์คาดว่าจะผลิตวัคซีนต้านโควิดชนิด "เอ็มอาร์เอ็นเอ" (mRNA) ป้อนประชากรโลกได้ครบ 3,000 ล้านโดส และมีแผนจะผลิตวัคซีนอีก 4,000 ล้านโดสในปีหน้า
.
การที่วัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียสถือเป็นอุปสรรคในการใช้งานในประเทศที่ระบบสาธารณสุขยังมีข้อจำกัด อย่างก็ตาม ไฟเซอร์ระบุว่า ภายในเวลาประมาณ 1 เดือนจะมีการผลิตวัคซีนสูตรใหม่ออกมา และจะสามารถเก็บรักษาให้ตู้แช่เย็นปกติได้ถึง 3 เดือน ซึ่ง ดร.บัวร์ลา ชี้ว่านี่จะ "สร้างความแตกต่างครั้งใหญ่" ให้กับประเทศแถบตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา
.
นอกจากวัคซีนแล้ว ไฟเซอร์ยังพัฒนายาต้านไวรัส "แพ็กซ์โลวิด" (Paxlovid) ซึ่งผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้เกือบ 90% และคาดว่า ยาชนิดนี้จะได้รับการอนุมัติการใช้งานในสหรัฐฯ ในเร็ว ๆ นี้ และรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ตกลงซื้อไว้สำหรับรักษาคนไข้ 250,000 ราย
.
สหราชอาณาจักรอนุมัติยารักษาโควิดแบบใหม่
หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร แถลงว่า ได้อนุมัติยารักษาโรคโควิด-19 แบบใหม่ที่มีชื่อว่า "เซวูดี" (Xevudy) ซึ่งอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลในคนไข้กลุ่มเสี่ยงสูงได้ถึง 79%
.

MHRA ระบุว่า "เซวูดี" (Xevudy) อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลในคนไข้กลุ่มเสี่ยงสูงได้ถึง 79%
.
เซวูดี เป็นชื่อการค้าของยา "โซโทรวิแมบ" (Sotrovimab) ซึ่งเป็นการรักษาแบบ "โมโนโคลนอลแอนติบอดี" (monoclonal antibody treatment) ที่พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ พีแอลซี (GlaxoSmithKline plc หรือ GSK) และบริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir Biotechnology)
.
ยาชนิดนี้ทำงานโดยเข้าไปห่อหุ้มโปรตีนหนามที่ด้านนอกของไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ที่รับเชื้อเข้าไป และทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ได้
.
ยาโซโทรวิแมบ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในคนไข้อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวเกิน 40 กิโลกรัม โดยการใช้งานทำโดยค่อย ๆ ให้ยาเข้าหลอดเลือดดำเป็นเวลา 30 นาที
.
MHRA แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ทันทีภายใน 5 วันหลังจากคนไข้แสดงอาการของโควิด-19 และระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้จะได้รับผลกระทบจากเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่
.
แต่การตรวจสอบในเบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานบ่งชี้ว่ามันน่าจะใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงเชื้อโอไมครอน
.

ที่มา : BBC NEWS THAI  https://www.bbc.com/thai/international-59507210