นักวิทยาศาสตร์กำลังพบหลักฐานยืนยันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ โอมิครอน จะก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ทั่วโลกค่อนข้างแน่นอน โดยขณะนี้พบการแพร่เชื้อไปอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิดอยู่สูงมากแล้วก็ตาม

.
แม้จะดูเหมือนว่าอาการป่วยจากเชื้อโอมิครอนไม่สู้รุนแรงมากนัก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนักก่อนหน้านี้ แต่การที่มันสามารถหลบเลี่ยงภูมิต้านทานในร่างกายคน และทำให้โรคโควิด-19 ติดต่อกันได้รวดเร็วเกินคาด ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่าสถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่วิกฤตผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอีกครั้งอย่างแน่นอน
.
การเร่งปรับปรุงวัคซีนที่มีอยู่ให้ทันการณ์ เพื่อที่จะหยุดยั้งเชื้อโอมิครอนได้ก่อนเกิดหายนะจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์ เดบอราห์ ฟุลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาเรื่องของวัคซีน mRNA มานานกว่า 20 ปี บอกกับเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ว่าการปรับปรุงหรืออัปเดตวัคซีนโควิดชนิดนี้สามารถจะทำได้ภายในเวลา 100 วัน หลังได้ทราบถึงข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของโอไมครอน
.
ศ. ฟุลเลอร์บอกว่า วัคซีน mRNA ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ใช้รหัสพันธุกรรมบนสาย mRNA เป็นตัวออกคำสั่งให้เซลล์ร่างกายของมนุษย์ผลิตโปรตีนแบบเดียวกับที่อยู่บนส่วนหนามของไวรัสออกมา ซึ่งโปรตีนนี้จะไม่เป็นอันตราย แต่จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีเอาไว้ เพื่อต้านทานการติดเชื้อโควิดในภายหลัง
.

ในกรณีของโอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามของไวรัสไปอย่างมาก จึงจำเป็นต้องสร้างสาย mRNA แบบใหม่จากพันธุกรรมของโอมิครอนขึ้นมาโดยตรง เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ เพราะแอนติบอดีจากวัคซีนที่ได้รับการอัปเดตหรือปรับปรุงให้ทันสมัยแล้ว จะมีความจำเพาะกับเชื้อโอมิครอนมากขึ้น และสามารถจับยึดไวรัสเอาไว้ไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกายคนได้ดีขึ้น
.
ศ. ฟุลเลอร์ แสดงความเห็นว่า "คนที่เคยได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 โดสแล้ว หรือคนที่มีภูมิต้านทานตามธรรมชาติหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่น สามารถรับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต้านทานโอมิครอนเป็นเข็มที่ 3 ได้ โดยไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก"
.
"หากโอมิครอนกลายเป็นเชื้อโควิดที่แพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่เชื้อเดลตา คนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลยจะต้องฉีดวัคซีนที่อัปเดตแล้วนี้ 2-3 โดส แต่ถ้าโอมิครอนและเดลตายังคงมีการระบาดควบคู่กันไปทั้งสองสายพันธุ์ เป็นไปได้ว่าคนที่ยังไม่เคยไปฉีดวัคซีนจะได้รับวัคซีนผสมสูตร โดยมีการฉีดให้ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่รวมกัน 2-3 โดส"
.
ในการอัปเดตวัคซีนนั้น นักวิทยาศาสตร์จะสร้าง "แม่แบบดีเอ็นเอ" (DNA template) ขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นแม่พิมพ์ในการผลิตสาย mRNA ต่อไป โดยจะผสมแม่แบบดีเอ็นเอนี้เข้ากับเอนไซม์สังเคราะห์บางชนิด รวมทั้งโมเลกุลโปรตีนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในชื่อรหัส G,A,U และ C

เอนไซม์จะเร่งให้เกิดกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรม (transcription) ซึ่งจะสร้างสาย mRNA ตามแม่แบบพันธุกรรมที่มีอยู่ โดยใช้โมเลกุลโปรตีนมาเรียงต่อกันตามลำดับที่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

นักวิจัยวัคซีนจะใช้เวลา 3 วัน ผลิตแม่แบบดีเอ็นเอที่ปรับปรุงใหม่ จากนั้นใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ผลิตวัคซีน mRNA ชุดแรกให้เพียงพอต่อการทดสอบกับเซลล์ของมนุษย์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะใช้เวลาทดสอบในขั้นนี้ราว 6 สัปดาห์ หากวัคซีนผ่านการทดสอบเบื้องต้น นักวิจัยจะเดินหน้าสู่การทดลองระดับคลินิกในมนุษย์ทันที ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์
.
ศ. ฟุลเลอร์ชี้ว่า การทดลองระดับคลินิกในกรณีนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้กลุ่มทดลองขนาดใหญ่หลายหมื่นคน หรือใช้เวลาในการทดลองนานหลายเดือนเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะหลายขั้นตอนในการทดสอบนั้นเหมือนกับของวัคซีนโควิดชนิดดั้งเดิม จึงไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก
.
ดังนั้นในเวลาเพียงไม่เกิน 100 วัน เราก็จะได้วัคซีนปรับปรุงใหม่ที่พร้อมใช้สู้กับเชื้อโอมิครอน และหากวัคซีนผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาของแต่ละประเทศอย่างรวดเร็ว พร้อมกับโรงงานได้เตรียมปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับวัคซีนชนิดใหม่ไว้ล่วงหน้า ศ. ฟุลเลอร์เชื่อว่าวัคซีนต้านโอมิครอนจะเดินทางไปถึงต้นแขนของผู้คนจำนวนมากได้ทันการณ์อย่างแน่นอน
.

ที่มา : BBC NEWS THAI https://www.bbc.com/thai/international-59571948