หากคุณคิดว่าเวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันบนโลกนั้น ไม่เพียงพอที่จะใช้สะสางงานการต่าง ๆ ให้หมดไป คุณคงไม่อาจไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 367b ที่เพิ่งจะถูกค้นพบได้ เพราะดาวเคราะห์ดวงนี้ใช้เวลาโคจรวนรอบดาวฤกษ์อย่างรวดเร็ว จนเวลา 1 ปี มีเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้น

.
ทีมนักดาราศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศเยอรมัน (DLR) ตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Science หลังใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ขององค์การนาซา มองหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ๆ จนพบเข้ากับดาวเคราะห์สีแดงที่แสนแปลกประหลาดดวงนี้
.
ดาวเคราะห์ GJ 367b อยู่ห่างจากโลกเพียง 31 ปีแสง ซึ่งถือว่าอยู่ใกล้มาก ดาวดวงนี้โคจรวนรอบดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบที่เป็นดาวแคระแดง และน่าจะมีดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมเป็นดาวบริวารในระบบเดียวกันด้วย
.

นักดาราศาสตร์ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยใช้วิธีสังเกตปรากฏการณ์ทรานซิต (transit) เมื่อดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์จนทำให้แสงสว่างของดาวฤกษ์หรี่มัวลงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังใช้วิธี Radial Velocity หรือวิธีวัดการสั่นไหวของแสงจากดาวฤกษ์ โดยค่าความยาวคลื่นแสงที่เปลี่ยนแปลงไปขณะดาวเคราะห์เคลื่อนผ่าน จะบ่งบอกถึงแรงโน้มถ่วงและมวลของดาวเคราะห์นั้นได้

.

ภาพจำลองกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ซึ่งอยู่ด้านหน้าดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดเล็ก
.
ข้อมูลจากการสังเกตดังกล่าวทำให้ทราบได้ว่า ดาวเคราะห์ GJ 367b มีขนาดประมาณดาวอังคาร โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 9,000 กิโลเมตร แต่องค์ประกอบภายในมีความหนาแน่นสูงกว่าโลก เนื่องจากเป็นธาตุเหล็กโดยส่วนใหญ่ถึง 80%
.
แก่นของดาวนี้เป็นนิกเกิลเหมือนกับดาวพุธ ทั้งยังตั้งอยู่ประชิดติดกับดาวฤกษ์อย่างมาก เหมือนดาวพุธที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นกัน ทำให้ด้านที่หันเข้าหาดาวฤกษ์อยู่เสมอของ GJ 367b มีอุณหภูมิสูง 1,300-1,500 องศาเซลเซียส
.
แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แต่ทีมนักดาราศาสตร์ผู้ทำการวิจัยบอกว่ายังคงต้องการศึกษามันต่อไป เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดดาวจึงใช้เวลาโคจรสั้นเช่นนั้น รวมทั้งมีโอกาสสูงที่จะพบดาวเคราะห์ใกล้เคียงที่ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งจะมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้
.
ที่มา : BBC NEWS THAI https://www.bbc.com/thai/international-59529970