“สมคิด” เรียกอธิการบดีทั่วประเทศ รับมือดิสรัปชัน ผุด “สกิลแมปปิง” ตอบโจทย์แรงงานในระบบ คนที่ต้องการเปลี่ยนงาน สู่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ อว. ดึง 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ร่วมปรับปรุงและพัฒนาทักษะ การเพิ่มทักษะ และสร้างทักษะใหม่

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ในวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานการประชุม เรื่อง การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อตอบโจทย์กำลังคนในวัยทำงานในระบบ คนที่ต้องการเปลี่ยนงาน รวมทั้งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก
"ในการประชุมครั้งนี้จะมีอธิการบดีจากทั่วประเทศ ทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งบริษัทเอกชนรายใหญ่ เพื่อที่จะหารือร่วมกันถึงการปรับปรุงและพัฒนาทักษะ การเพิ่มทักษะ และการสร้างทักษะใหม่ โดยภาคเอกชนอาจจะมาร่วมจัดทำหลักสูตรในอนาคต เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น ภาคเอกชนอาจจะทำหลักสูตรเอง แต่ให้ อว. เข้าไปส่งเสริมสนับสนุน หรือถ้าภาคเอกชนทำไม่ได้ก็ให้มหาวิทยาลัยเข้าช่วยทำ หรือมหาวิทยาลัยทำหลักสูตรเอง ซึ่งหลักสูตรที่จะทำให้จะทั้งแบบที่มีปริญญากับไม่มีปริญญาก็ได้"
ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญในการประชุมวันที่ 28 ต.ค. อีกประเด็นหนึ่ง คือการสำรวจความต้องการทักษะอาชีพ (Skill Mapping) เพื่อที่จะได้จัดทำหลักสูตรให้สอดคล้อง โดยเฉพาะหลักสูตรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา แต่ต้องพัฒนาไปสู่เกษตร 4.0 ให้ได้ 2. กลุ่มอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปใช้ในกลุ่มคนทำงาน เช่น วิศวกร ช่างฝีมือ ซึ่งต้องพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 3.กลุ่มภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องพัฒนาไปสู่การบริการ 4.0 เช่นกัน
ทั้ง 3 กลุ่มจะให้มหาวิทยาลัยเข้ามาจับคู่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎจะเน้นในเรื่องภาคบริการและความโดดเด่นของท้องถิ่น อย่างการยกระดับความสามารถด้านภาษา ยกระดับการท่องเที่ยว ยกระดับการเกษตร ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและอีก 3 พระจอมเกล้า จะเน้นในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นต้น ส่วนมหาวิทยาลัยกลุ่มใหญ่ จะเน้นในเรื่องของการรับมือต่อกระแสดิสรัปชัน (Disruption) ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาทักษะ การเพิ่มทักษะ และการสร้างทักษะใหม่
“ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาแรงงานว่างงานในระบบ แรงงานที่ต้องการเปลี่ยนงาน และอาชีพในอนาคต ซึ่งตนได้ประสานกับ 10 บริษัทรายใหญ่ เช่น โตโยต้า ปตท. เอสซีจี ปูนซิเมนต์ไทย บางจาก มิตรผล เอไอเอส และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อให้มาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาคนในยุคดิสรัปชันนี้” ดร.สุวิทย์กล่าว

ที่มา : Manager online 24 ตุลาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000102271]