รายงานขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN เตือนว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เว้นแต่จะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องมวลมนุษยชาติและโลกของเรา

รายงานดังกล่าวเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (IPCC) และมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ธรรมชาติและสังคมโลกที่กำลังประสบปัญหาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศ

.

รายงานระบุว่า ความร้อนจัด สภาพอากาศที่แห้งแล้ง และน้ำท่วมกำลังคุกคามการอยู่รอดของพืชและสัตว์บางชนิด โดย IPCC กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ กำลังปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้ายแรงและแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากกว่าที่คาดไว้เมื่อ 20 ปีก่อน

.

อันโตนิโอ กูเทอเรซ (Antonio Guterres) เลขาธิการใหญ่ UN กล่าวว่า โลกจำเป็นต้องมีการลงทุนในวิธีการใหม่ๆ เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น แต่บรรดาผู้นำโลกกลับล้มเหลวในการดำเนินการตามขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจำกัดสาเหตุหลักประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็คือ ก๊าซคาร์บอนที่ดักจับความร้อน

.

ขากล่าวด้วยว่า จำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการและเทคโนโลยีเพื่อจำกัดมลพิษดังกล่าว ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชากรโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุดในโลก

.

ทางด้าน โมฮัมเม็ด อาดาว (Mohamed Adow) ผู้อำนวยการองค์กรนโยบายสภาพภูมิอากาศ Power Shift Africa ระบุในแถลงการณ์ว่า รายงานของสหประชาชาติฉบับนี้เป็นการปลุกสำนึกไปยังทุกพื้นที่ของโลกอย่างจริงจัง พร้อมชี้ว่า “ประเทศทางตอนเหนือของโลกที่ร่ำรวยและก่อมลพิษทั้งหลาย ได้เปลี่ยนแปลงโลกโดยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และตอนนี้ประเทศเหล่านั้นก็ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมเหล่านั้น”

.

นอกจากนี้ สหประชาชาติยังคาดหวังให้บรรดาผู้นำโลกใช้รายงานฉบับนี้เพื่อกำหนดนโยบายใหม่ๆ โดยรายงานดังกล่าวเผยแพร่ออกมา หลังบรรดาผู้นำโลกเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อ 3 เดือนก่อน

.

ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสปี ค.ศ. 2015 ขององค์การสหประชาชาติมีเป้าหมายที่จะควบคุมภาวะโลกร้อนโดยตั้งเป้าที่จะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยรายงานของ UN ให้คำอธิบายถึงยุคก่อนอุตสาหกรรมว่า เป็นช่วงเวลาก่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ และกำหนดช่วงดังกล่าวให้เป็นระยะเวลา 50 ปีก่อนสิ้นปีคริสต์ศตวรรษ 1900

.

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และก๊าซคาร์บอนที่ทำการกักเก็บความร้อนไว้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศกล่าวว่า สิ่งนี้จะเป็นตัวผลักดันอุณหภูมิให้สูงกว่าเป้าหมายของสหประชาชาติที่ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030

.

รายงานฉบับใหม่เตือนด้วยว่า หากความร้อนเพิ่มขึ้นเกินขีดจำกัดนั้น ระบบต่างๆ ของมวลมนุษย์และธรรมชาติจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งบางสิ่งบางอย่างจะไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะลดลงก็ตาม

.

IPCC ชี้ด้วยว่า ผู้คนหลายล้านกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำอย่างรุนแรง โดยคนเหล่านั้นอาศัยอยู่ในแอฟริกา เอเชีย อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และบนเกาะเล็กๆ และในแถบอาร์กติก

.

หนึ่งในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็คือ แอฟริกา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่อื่นในช่วงศตวรรษที่ 21 โดยมีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล รายงานระบุว่าภายในปี 2060 ชาวแอฟริกันมากกว่า 190 ล้านคนจะตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

.

รายงานระบุด้วยว่า ผู้คนทั่วโลกราว 1,000 ล้านคนจะเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น และผู้คนจำนวนมากขึ้นจะต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเนื่องจากภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศต่างๆ โดยภัยทางธรรมชาติหลักๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นก็คือ เหตุอุทกภัย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และพายุโซนร้อน

.

อย่างไรก็ดี หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำราว 183 ล้านคนต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารภายในปี 2050 ด้วย

.

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น แคร์รี (John Kerry) ซึ่งเป็นทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า รายงานของ UN ฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหากผู้คนยังคงเพิกเฉยต่อวิทยาศาสตร์ เขาคิดว่า มันไม่ใช่คำถามอีกต่อไปแล้วว่า โลกของเราจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตได้หรือไม่ หากแต่เป็นคำถามที่ว่า เราจะสามารถหลีกเลี่ยงผลที่เลวร้ายที่สุดที่ตามมาได้หรือไม่ มากกว่า

ที่มา : VOA THAI UN เรียกร้องรัฐบาลต่างๆ เร่งปกป้องโลกจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (voathai.com)