ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เสนอให้ใช้วิธียืนขาเดียวนานอย่างน้อย 10 วินาที เพื่อเป็นแบบทดสอบมาตรฐานในการตรวจวัดความแข็งแรงของร่างกาย หลังจากพบว่าผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและวัยชรา จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตภายใน 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หากไม่สามารถทำท่าดังกล่าวได้

.

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และบราซิล ร่วมกันตีพิมพ์ผลวิจัยล่าสุดลงในวารสารเวชศาสตร์การกีฬาอังกฤษ (British Journal of Sports Medicine) หลังติดตามศึกษาชาวบราซิลผิวขาว ซึ่งมีอายุระหว่าง 51-75 ปี จำนาน 1,702 คน เป็นเวลา 12 ปีเต็ม (2008-2020)

.

แม้ผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดจะมีสภาพของขาและเท้าปกติ ทั้งยังสามารถก้าวเดินได้อย่างมั่นคง แต่ 1 ใน 5 หรือ 21% ไม่สามารถยืนขาเดียวได้นานถึง 10 วินาทีตามกำหนด โดยในการทดสอบนี้ผู้เข้าร่วมจะต้องมองตรงไปข้างหน้า ปล่อยแขนแนบลำตัว แล้วเอานิ้วเท้าด้านที่ยกขึ้นแตะไว้ที่น่องของขาด้านที่ใช้ยืน ซึ่งผู้วิจัยจะให้โอกาสแต่ละคนทำท่านี้ด้วยขาทั้งสองข้าง ข้างละ 3 ครั้ง

.

เมื่อติดตามศึกษาข้อมูลของผู้เข้าร่วมการวิจัยใน 10 ปีต่อมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตไป 123 ราย ด้วยสาเหตุทางสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งยังพบว่าการไม่สามารถยืนขาเดียวได้ถึง 10 วินาที ในการทดสอบเมื่อ 10 ปีก่อน มีส่วนสัมพันธ์กับอัตราการตายที่สูงขึ้นกว่าคนทั่วไปถึง 84% หรือสูงกว่าเกือบสองเท่าเลยทีเดียว

.

งานวิจัยที่มีมาก่อนหน้านี้ชี้ว่า คนที่ยืนขาเดียวได้ไม่ถึง 10 วินาที มีความเสี่ยงต่ออาการหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (stroke) สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม (dementia) มากกว่าด้วย

.

แม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า การทรงตัวมีความเกี่ยวข้องกับอายุขัยอย่างไร แต่ทีมผู้วิจัยบอกว่าการทรงตัวเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายในวัยกลางคนและวัยชราได้เป็นอย่างดี เนื่องจากความสามารถในการทรงตัวของคนปกติจะคงที่จนถึงอายุ 60 ปี ก่อนจะเริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

.

แม้ผลการศึกษานี้จะมีข้อจำกัด เนื่องจากทดลองกับคนเชื้อชาติเดียวเท่านั้น แต่ทีมผู้วิจัยระบุว่าน่าจะมีความแม่นยำมากพอ จนสามารถจะใช้เป็นวิธีทดสอบมาตรฐานในการตรวจสุขภาพประจำปีของคนชราได้ ทั้งยังเป็นวิธีที่ง่าย ทราบผลได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/international-61892330