สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และบริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมจัดงานสัมมนาหัวข้อ “PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน” เพื่ออัปเดตความคืบหน้าของการบังคับใช้กฎหมายใน 1 เดือนแรก และแนวทางการสร้างความเข้าใจให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชน รวมไปถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต พร้อมจัดเวทีเสวนาเพื่อตอบคำถามและสร้างความเข้าใจให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ณ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

.

จากงานสัมมนาดังกล่าว ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 ท่าน และภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. เป็นประธานเปิดงาน และได้แนะนำบริการพื้นที่ใหม่ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย อย่าง ARI Co-InnoSpace ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้มาทดลองใช้บริการพื้นที่ อีกทั้งรับบริการการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่พาร์ทเนอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) เพื่อการเพาะปลูก ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืช ด้วยการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) มาพร้อมกับความโดดเด่นคือ อุปกรณ์ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้ โดย HandySense จะตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชผลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ (sensor) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นสัมพัทธ์ แสง และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่างๆ ให้ทำงานต่อไป มีการติดตั้งใช้งานไปแล้วมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และประกาศเป็นเทคโนโลยีแบบเปิด (Open Innovation) เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้กับแปลงเกษตรและเชิงพาณิชย์ได้แล้ว โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) มุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัยใช้งาน ในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ตฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย

.

นอกจากนี้ในงานมีเวทีเสวนาระหว่างตัวแทนจากภาครัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย โดย พล.ต.ต.ปภัชเดช เกตุพันธ์ ผบก. กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อ.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย PDPA บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่มาให้ความกระจ่างในแนวทางปฏิบัติเรื่อง PDPA ว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริงหรือไม่จริงเกี่ยวกับบทลงโทษทางกฎหมาย PDPA และข้อผ่อนปรน และฝั่งตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน โดยคุณยศกร ฟอลเล็ต บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด และคุณนิวัฒน์ กัณวเศรษฐ์ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด มาร่วมแบ่งปันแนวทางปฏิบัติ ปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยมี ดร.จริญญา จันทร์ปาน บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000063690