สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดโปรแกรมอบรมด้านมาตรฐานการทดสอบและการวิจัยพัฒนาระบบรางให้แก่หน่วยงานสถาบันวิจัยการก่อสร้างแห่งชาติมาเลเซีย เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในสังกัดและขยายงานทดสอบให้มากขึ้น รวมทั้งปฏิบัติงานทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการสากล เช่น ISO 17025

.

ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะนักวิชาการ ศทร. ได้เดินทางไปจัดโปรแกรมอบรมด้านมาตรฐานการทดสอบและการวิจัยพัฒนาระบบรางให้แก่หน่วยงานสถาบันวิจัยการก่อสร้างแห่งชาติมาเลเซีย - Construction Research Institute of Malaysia (CREAM) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการจัดโปรแกรมอบรมในครั้งนี้ ศทร. วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในหัวข้อ ด้านมาตรฐานและการทดสอบชิ้นส่วนงานทางรถไฟ เช่น หมอนคอนกรีตอัดแรง เครื่องยึดเหนี่ยวราง ฯลฯ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง วว. และ CREAM ซึ่ง CREAM ต้องการหน่วยงานเชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในสังกัดและขยายงานทดสอบให้มากขึ้น รวมทั้งปฏิบัติงานทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการสากล เช่น ISO 17025 

.

โปรแกรมการอบรมดังกล่าว ประกอบด้วยภาคบรรยายและภาคปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการทดสอบงานโครงสร้างของ CREAM โดย ดร.อาณัติ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการทสอบหมอนคอนกรีตต่างๆ ทั้งการทดสอบภาคสถิตและพลวัตร อาทิเช่น ISO 22480 , BS EN 13230 , AREMA 2010, Australian Standard เป็นต้น รวมทั้งทฤษฎีของการออกแบบหมอนคอนกรีตเบื้องต้น ซึ่งหัวข้อการบรรยายได้รับความสนใจจากคณะวิศวกรและช่างเทคนิคจาก CREAM เป็นอย่างมาก รวมทั้งมีคำถามและมีการแลกเปลี่ยนความรู้ตลอดช่วงการบรรยาย ในส่วนภาคปฏิบัติการคณะนักวิชาการ ศทร.วว. ได้ถ่ายทอดเทคนิคการติดตั้ง การจัดวาง การตรวจสอบ และขั้นตอนการทำงานทดสอบต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ CREAM สามารถจัดทำขั้นตอนการทำงาน หรือ Work instruction สำหรับการทดสอบได้ต่อไป

.

อนึ่ง ศทร.วว. และ CREAM ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 โดยมีขอบเขตความร่วมมือ 5 ด้าน ดังนี้

.

1. การพัฒนามาตรฐานการรถไฟ เช่น ร่วมแบ่งปัน พัฒนาและร่างมาตรฐานการรถไฟในระดับชาติหรือระดับภูมิภาค
2. การส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟ เช่น การก่อสร้างหรือการดำเนินงานและการบำรุงรักษา
3. การสร้างขีดความสามารถในการทดสอบและรับรองวัสดุ ผลิตภัณฑ์ และบุคลากรทางรถไฟ
4. การวิจัยและพัฒนาระบบการขนส่งทางราง เช่น เทคโนโลยีการตรวจสอบและติดตาม การบำรุงรักษาสมัยใหม่ วัสดุที่เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ เป็นต้น
5. การพัฒนาบุคลากรทางด้านระบบขนส่งทางราง เช่น co-degree/non-degree/ up-skill/re-skill หรือฝึกอบรมวิชาชีพ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีในระบบราง เป็นต้น

.

ดังนั้นการจัดโปรแกรมอบรมครั้งนี้ ของ ศทร.วว. นับเป็นอึกหนึ่งความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบราง ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมกันผลักดันระบบสนับสนุนอุตสาหกรรมรางให้มีความยั่งยืนต่อไป

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000064473