แฟ้มภาพ - ผูัคนสวมหน้ากากเมื่ออยู่ภายในอาคารร้านแห่งหนึ่งในฮ่องกง เมื่อ 17 มี.ค. 2020 (AP)

บริษัทไดสัน (Dyson) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เปิดเผยข้อมูลที่จัดทำครั้งแรก จากโครงการข้อมูลคุณภาพอากาศที่เชื่อมต่อทั่วโลกของบริษัทไดสัน (Dyson Global Connected Air Quality Data) ซึ่งระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมต่อกับเครื่องฟอกอากาศมากกว่า 2.5 ล้านเครื่องชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้ว มลภาวะภายในบ้านมักที่จะเลวร้ายกว่ามลภาวะที่อยู่ภายนอกอาคารที่พักอาศัย

.

การวิจัยพบว่า ระดับ PM2.5 ที่พบภายในอาคารในทุกประเทศมีค่าเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่าตัวเลขที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้สัมผัสได้ในระยะยาวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนต่อปี

.

เคน อาร์มสตรอง หัวหน้าฝ่ายคุณภาพอากาศ จากบริษัทไดสัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การที่คุณภาพอากาศภายในอาคารย่ำแย่กว่าคุณภาพอากาศภายนอกอาคารนั้นเป็นเรื่องจริง และเกิดขึ้นนานได้ถึง 11 เดือนต่อปีซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ

.

เคน อาร์มสตรอง หัวหน้าฝ่ายคุณภาพอากาศ จากบริษัทไดสัน

การศึกษาดังกล่าว ได้มาจากการรวบรวมจุดข้อมูล (data point) มากกว่า 5 แสนล้านจุด ของผู้ใช้งานที่เชื่อมต่อเครื่องฟอกอากาศกับแอปฟลิเคชัน MyDyson ในเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2022 ถึงปี 2023

.

ข้อมูลข้างต้น ระบุถึงมลพิษสองประเภท ได้แก่ PM2.5 และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)

.

PM2.5 หมายถึงอนุภาคที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือราว 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ทั่วไป เป็นสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถสูดดมเข้าไปได้ รวมถึงเป็นหัวข้อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

.

ตัวอย่างแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 อย่างเช่น การเผาไหม้ของการปรุงอาหารด้วยก๊าซหรือการใช้เตาฟืน สะเก็ดรังแคจากสัตว์เลี้ยง ขี้เถ้า และฝุ่น

.

สำหรับ สารอินทรีย์ระเหย (VOCs) คือสารมลพิษจากก๊าซ ซึ่งรวมถึงก๊าซเบนซีน (Benzene)และก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่ถูกปล่อยออกมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การทำความสะอาดภายในบ้านหรือการปรุงอาหารด้วยก๊าซ การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย สเปรย์ฉีดร่างกาย เทียน เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน

.

โซฟี ริง นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแห่งพอร์ทสมัธ

โซฟี ริง นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแห่งพอร์ทสมัธ ประเทศอังกฤษ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยนี้ กล่าวว่า “ผู้คนอาจจะค่อนข้างประหลาดใจ กับแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศภายในอาคาร”

.

นักวิจัยท่านนี้ยังเล่าว่า “ถ้าคุณนั่งอยู่บนโซฟา อนุภาค (ฝุ่นละออง) ก็จะฟุ้งกระจาย และคุณนั่งดูทีวีที่รายล้อมไปด้วยพวกมัน แม้แต่เตียงนอนของเรา อนุภาคเหล่านี้ก็ยังเกาะอยู่บนเตียงได้ ดังนั้น หากเราพลิกตัวในตอนกลางคืน จะทำให้อนุภาคฝุ่นกระจายอีกครั้ง และเราก็จะหายใจเอาพวกมันเข้าไป ขณะที่หลับอยู่”

.

ข้อมูลการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่ ชี้ว่า ระดับของ PM2.5 ในพื้นที่อาคารจะมีปริมาณสูงที่สุดในช่วงเย็นและกลางคืน ขณะที่ผู้คนใช้ชีวิตภายในบ้าน ซึ่งสูงกว่าช่วงที่คนอยู่ในที่ทำงานหรือสถานศึกษา

.

นอกจากนี้ ข้อมูลยังทำให้ทราบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศส่วนใหญ่จะประสบปัญหาความแตกต่างของปริมาณฝุ่น PM 2.5 ระหว่างพื้นที่ในอาคารและพื้นที่กลางแจ้ง

.

การทำความสะอาดด้วยสเปรย์

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การทำความสะอาดทั่วไป สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองในที่พักของเราได้ แต่ ริง นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศ ย้ำเตือนเรื่องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ โดยบอกว่า หากเราใช้สเปรย์ละอองลอย (aerosol spray) ทำความสะอาด สิ่งนี้อาจไปเพิ่มปัญหาฝุ่นละออง อันเป็นส่วนประกอบของมลพิษทางอากาศให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเกี่ยวกับการเลือกใช้สารเคมีในการทำความสะอาดที่พักอาศัยของเราด้วย

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/indoor-air-pollution-often-worse-than-outdoors-study/7451988.html