โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต แม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนายารักษาโรคที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ แต่ก็ยังมีโรคที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง และในอนาคตก็ยังมีแนวโน้มที่เชื้อโรคเหล่านี้จะมีการพัฒนาการดื้อยารักษาที่สูงขึ้นอีกด้วย จึงทำให้การพัฒนาในด้านยารักษาโรคเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ

หนึ่งในนักวิจัยของประเทศไทย ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านนี้ คือ ดร.จำเรียง ธรรมธร จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 1 ใน 5 นักวิจัยหญิงที่ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2562 (L’OREAL For Women in Science 2019) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences) จาก “การสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาเลเรีย”
ดร.จำเรียง กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการพัฒนายารักษาโรค ที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยให้หายได้ แต่ก็ยังมีโรคเกิดขึ้นใหม่มากมาย อีกทั้งโรคต่างๆ ที่มีอยู่ก็มีอัตราการดื้อยาที่สูงขึ้น การพัฒนายาจึงเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะแข่งกับเชื้อโรคที่พัฒนาไม่ต่างจากเรา แต่ในการพัฒนายารักษาโรคนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำกันได้โดยง่าย
“หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญคือ การสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพในการยับยั้งเชื้อโรค เพื่อนำไปต่อยอดเป็นยารักษาโรค แต่การสังเคราะห์สารอนุพันธ์นั้น จำเป็นต้องวิจัยและศึกษาหาข้อมูล ว่าสารชนิดใดสามารถรักษาโรคได้บ้าง และได้จากแหล่งใด แต่การสกัดสารอนุพันธ์จากแหล่งกำเนิดนั้น ส่วนมากจะได้ปริมาณที่น้อยและยังมีโครงสร้างเดียว”
ผลงานวิจัยด้านการสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียของ ดร.จำเรียง นั้น เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิธีการสังเคราะห์สาร และได้เล็งเห็นว่าเชื้อมาเลเรียเป็นเชื้อโรคที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งโรคมาลาเลียก็เป็นโรคที่พบได้ในประเทศไทย มีการระบาดอยู่บ่อยครั้ง และยังมีแนวโน้มการพัฒนาการดื้อยาที่สูงขึ้นอีกด้วย
ยารักษาโรคมาลาเรียนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก จึงได้มีการศึกษาวิจัยค้นหาสารอนุพันธุ์จากสมุนไพรชนิดต่างๆ ซึ่ง ดร.จำเรียงสนใจ “ต้นน็อบวูด” (knobwood) พืชสมุนไพรในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา ที่มีถูกใช้รักษาโรคมาลาเรียมาช้านานตามภูมิปัญญาพื้นบ้านของผู้คนที่นั่น
“แต่ด้วยการสกัดสารอนุพันธ์จากต้นน็อบวูดนั้นได้ปริมาณที่น้อย โครงสร้างอนุพันธ์ยังมีโครงสร้างเดียว และยังเป็นพืชที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศ จึงได้วิจัยเพื่อที่จะสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ที่เหมือนความคล้ายคลึงกับสารอนุพันธ์ที่สกัดได้มาจากต้นน็อบวูด และมีโครงสร้างที่หลากหลาย เพื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพในการรักษาโรคมาลาเรียในขั้นตอนต่อไป” ดร.จำเรียงกล่าว
หลังจากได้สารที่เป็นสารประกอบแล้ว ดร.จำเรียงจะนำสารนี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นยารักษาโรคต่อไป และสิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สาร ต้องเป็นวิธีที่สะดวก และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อที่จะสามารถสังเคราะห์ตัวยารักษาโรคได้เองในประเทศ ไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศ
ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาการสังเคราะห์สารสารอนุพันธ์ เพื่อที่จะผลิตเป็นยารักษาโรค และสามารถผลิตได้เองในประเทศ จึงทำให้ ดร.จำเรียง ธรรมธร ผู้ดำเนินงานวิจัยการสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาเลเรีย เป็น 1 ใน 5 นักวิจัยหญิงที่ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2562 (L’OREAL For Women in Science 2019) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ทุนวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ที่มา : Manger online 20 พฤศจิกายน 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000106798]