ข้อมูลเผยแพร่บน facebook สท.: บทความ
สาร HCFCs หรือสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbon) คือสารประกอบที่เกิดจาก ไฮโดรเจน (H) คลอรีน (Cl) ฟลูออรีน (F) และคาร์บอน (C) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และเป็นสารควบคุมตามพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ประกอบกับกฎกระทรวง (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ข้อ 14 บัญญัติให้การดำเนินการต่อวัตถุอันตรายต้องคำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณการใช้อย่างเข้มงวด เพื่อให้สามารถลดและเลิกใช้ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถควบคุมปริมาณการใช้สารดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงประกาศแนวทางการอนุญาตนำเข้าสารเอชซีเอฟซี (HCFCs) เพื่อใช้ในประเทศ พ.ศ. 2555 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
สาร HCFCs ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศใช้สารเอชซีเอฟซี – 22 เป็นสารทำความเย็น, โรงงานผลิตโฟมใช้สารเอชซีเอฟซี - 141b (สารไดคลอโรฟลูออโรอีเทน) เป็นต้น ซึ่งการใช้สาร HCFCs มีส่วนทำให้เกิดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศกำหนดห้ามใช้สาร HCFCs เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 ฉบับ ห้ามไม่ให้โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศและโรงงานผลิตโฟมใช้สาร HCFCs ดังนี้
.
1. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศใช้สารเอชซีเอฟซี - 22 (สารคลอโรไดฟลูออโรมีเทน) ในกระบวนการผลิต พ.ศ. 2560 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 174 ง ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หน้า 29) ห้ามโรงงานผลิตหรือประกอบเครื่องปรับอากาศตามประเภทหรือชนิดของโรงงาน ลำดับที่ 70 และ 71 แห่งบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ใช้สารเอชซีเอฟซี - 22 (สารคลอโรไดฟลูออโรมีเทน) ในกระบวนการผลิตหรือประกอบเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดทำความเย็นต่ำกว่า 5,000 บีทียูต่อชั่วโมง เพื่อการจำหน่ายในประเทศ
.
2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามโรงงานใช้สารเอชซีเอฟซี - 141b (สารไดคลอโรฟลูออโรอีเทน) ในกระบวนการผลิตโฟม พ.ศ. 2560 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 174 ง ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หน้า 28) ห้ามโรงงานตามประเภทหรือชนิดของโรงงานในบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ใช้สารเอชซีเอฟซี- 141b (สารไดคลอโรฟลูออโรอีเทน) หรือสารโพลีออลที่มีส่วนผสมของสารเอชซีเอฟซี - 141b (สารไดคลอโรฟลูออโรอีเทน) ในกระบวนการผลิตโฟมทุกชนิด ยกเว้นการใช้ในการผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (spray foam) ซึ่งใช้ระยะเวลาการเกิดปฏิกิริยาตั้งแต่เริ่มผสมสารจนกระทั่งเริ่มฟูตัวเป็นโฟม (cream time) ไม่เกิน 5 วินาที ที่อุณหภูมิของสารเคมีก่อนการผสม ไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส สำหรับแนวทางการเลือกสารทำความเย็นทดแทนโดย รจนา ประไพนพ (วิศวกรรมสารฉบับวิจัยและพัฒนา ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556) กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันสาร
.
ทดแทนความเย็นมี 5 ชนิด คือ
1.ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)
2.ไฮโดรฟลูออโรโอเลฟินส์ (HFOs)
3.ไฮโดรคาร์บอน (HCs)
4.แอมโมเนีย
5.คาร์บอนไดออกไซด์
.
อย่างไรก็ตามการเลือกสารทำความเย็นทดแทนแต่ละชนิด ต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ เช่น ความปลอดภัย ประสิทธิภาพและความเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารใดสารหนึ่งที่ให้สมรรถนะดี มีความปลอดภัยสูงและมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเยี่ยม ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและผู้ผลิตโฟมของประเทศไทยต้องดำเนินการเลิกใช้สาร HCFCs ในกระบวนการผลิตตามที่กฎหมายกำหนดและปรับเปลี่ยนใช้สารทดแทนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าอีกด้วย
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการให้บริการสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศรวมทั้งเอกสารราชกิจจานุเบกษา สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ : 0 2201 7295 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เผยแพร่ Facebook เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 :  https://www.facebook.com/ScienceLibraryDSS/posts/1724591900957554