ข้อมูลเผยแพร่บน facebook สท.: Infographic, บทความ

ถ้าหากจะให้นึกถึงสรรพคุณของสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ คลายอาการปวดเมื่อย หรือแม้กระทั่งบำรุงหัวใจ สิ่งที่นึกถึงเป็นอย่างแรกก็คือพิมเสน ซึ่งคนไทยมักคุ้นเคย   กับคำนี้มานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประโยชน์ของพิมเสนนั้นมีมากมายนอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้ในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

.

โดยทั่วไป พิมเสน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พิมเสนที่ได้จากธรรมชาติและพิมเสนสังเคราะห์     ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีการระเหยและติดไฟได้ง่าย สามารถละลายได้ในแอลกอฮอล์ ปิโตรเลียม อีเทอร์  และคลอโรฟอร์ม แต่ไม่ละลายหรือละลายได้ยากในน้ำ พิมเสนนั้นมีกลิ่นหอมเย็นและฉุน ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ใส่ในหมากพลู หรือใช้ผสมในลูกประคบเพื่อช่วยแต่งกลิ่นในการบำบัด โดยพิมเสนธรรมชาติหรือพิมเสนแท้ (Borneol camphor) คือ พิมเสนที่ได้จากการระเหิดของยางจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง (การกลั่นของเนื้อไม้โดยธรรมชาติ) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (Dipterocarpaceae) พบมากในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ลักษณะของไม้ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  มีความสูงถึง 70 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ลักษณะเป็นใบเดี่ยวอยู่บริเวณตอนบนของต้นเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ  ใบอ่อนจะมีสีแดง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ผลเป็นผลแห้ง กลีบนอกจะแผ่ออกเป็นปีก ภายในมี 1 เมล็ด โดยยางที่ได้จากการระเหิดจะมีลักษณะเป็นเกล็ดใส มีขนาดเล็ก เป็นผลึกรูปหกเหลี่ยม  และเปราะแตกได้ง่าย พิมเสนจะมีเนื้อแน่นกว่าการบูร ระเหิดได้ช้ากว่าการบูร ติดไฟให้แสงจ้าและมีควันมากแต่ไม่มีขี้เถ้า และพิมเสนอีกหนึ่งชนิดคือ พิมเสนสังเคราะห์หรือพิมเสนเทียม (Borneolum Syntheticum : Borneol) เป็นพิมเสนที่ได้จากสารสกัดจากต้นการบูร ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum camphora (L.) Presl. จัดอยู่ในจัดอยู่ในวงศ์อบเชย (Lauraceae) และต้นหนาด (หนาดหลวง หนาดใหญ่ หรือพิมเสนหนาด) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Blumea balsamifera (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (Asteraceae หรือ Compositae) โดยผ่านวิธีทางเคมีวิทยา

.

แม้ว่าคนไทยจะรู้จักพิมเสนกันมาเป็นเวลานาน แต่ข้อมูลทางด้านพิมเสนนั้นกลับไม่มีให้ค้นคว้า มากเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่าต้นไม้ที่ให้พิมเสนนี้เป็นพืชที่มีเฉพาะถิ่นที่ขึ้นอยู่เฉพาะในเขตป่าของเกาะ สุมาตรา บอร์เนียว และคาบสมุทรมลายู จึงส่งผลให้การศึกษาวิจัยในต้นไม้ชนิดนี้มีข้อจำกัดแต่ก็ยังพบว่า มีตัวอย่างข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพิมเสนที่มีการเผยแพร่รวมไปถึงสรรพคุณของพิมเสน คือ พิมเสนมีฤทธิ์  ในการฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เช่น เชื้อในลำไส้ใหญ่ เชื้อราบนผิวหนัง และยังใช้ในการรักษาอาการปวดเส้นประสาทหรือการอักเสบได้เป็นอย่างดี พิมเสนมีกลิ่นหอมเป็นยาเย็นบำรุงหัวใจ ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้วิงเวียนหน้ามืด ช่วยแก้ปากเปื่อยและแก้อาการผดผื่นคัน เป็นต้น ส่วนการศึกษาทางด้านพิษวิทยารวมไปถึงข้อควรระวังในการใช้พิมเสน มีดังนี้  หากสูดดมพิมเสนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ และหากใช้เกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ความจำสับสน รวมไปถึงสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานพิมเสนและควรเก็บพิมเสนไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิดโดยเก็บไว้ในที่แห้งและอุณหภูมิต่ำ

.

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พิมเสนธรรมชาติหรือพิมเสนแท้ก็พบว่าหาได้ยากเช่นกัน เพราะเนื่องด้วย  มีราคาค่อนข้างสูง และเป็นพืชที่มีเฉพาะถิ่น ผู้คนส่วนใหญ่จึงหันมาใช้พิมเสนสังเคราะห์ รวมไปถึงมีการจำหน่ายตามท้องตลาดในลักษณะที่หลากหลาย สามารถเลือกซื้อหาได้ตามความต้องการ ทั้งที่นำมาเป็นส่วนผสมในสบู่ ผสมขี้ผึ้งเพื่อทาปาก ผสมยาหม่อง ยาหอม และน้ำอบไทย อีกทั้งยังนำใบหรือกิ่งแห้งมาหั่น เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ในตู้เสื้อผ้าก็สามารถช่วยกำจัดแมลงและกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี เมื่อรู้ถึงประโยชน์อย่างนี้แล้วก็อย่าลืม เลือกหาพิมเสนมาไว้ติดบ้านเรือนเพื่อใช้ประโยชน์กันนะคะ

.

รายการอ้างอิง

พิมเสน สรรพคุณและประโยชน์ของพิมเสนเกล็ด 19 ข้อ!. [ออนไลน์]. สิงหาคม, 2660. [อ้างถึงวันที่ 27 มกราคม 2565]. เข้าถึงจาก : https://medthai.com/พิมเสน/

พิมเสน. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 27 มกราคม 2565]. เข้าถึงจาก : https://www.disthai.com/16895643/พิมเสน

ขอบคุณภาพประกอบจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Dryobalanops_aromatica