Author : ศิริพร ทิพย์สิงห์, เสาวนิต ทองพิมพ์ และรัชนู เมยดง.
Source : วารสารหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ 1906-9790
Abstract : งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและศึกษาคุณสมบัติของแบคเทอริโอซินจากบาซิลลัสที่แยกจากอาหารหมักของไทย โดยบาซิลลัส 258 ไอโซเลต แยกมาจากตัวอย่างอาหารหมักจำนวน 62 ตัวอย่างและนำไปศึกษาความสามารถในการผลิตแบคเทอริโอซินต้านเชื้อก่อโรคปลาด้วยวิธี agar well diffusion assay ผลการวิจัยพบว่า ไอโซเลต BB60a ซึ่งแยกมาจากผลิตภัณฑ์ปลาส้ม มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งเชื้อก่อโรคปลาที่เป็นแบคทีเรียแกรมบวก (Streptococcus agalactiae) และแบคทีเรียแกรมลบ (Aeromonas hydrophila) เมื่อจำแนกระบุชนิดของไอโซเลต BB60a ด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยาร่วมกับลำดับ 16S rDNA พบว่า มีความใกล้เคียงกับ Bacillus megaterium ร้อยละ 99.83 นอกจากนี้ยังศึกษาผลของแหล่งไนโตรเจนต่อ B. megaterium BB60a ในการผลิตสารแบคเทอริโอซิน พบว่า yeast extract ความเข้มข้น 12 กรัมต่อลิตรที่เป็นองค์ประกอบของอาหารเลี้ยงเชื้อช่วยส่งเสริมให้เชื้อผลิตแบคเทอริโอซินได้สูงสุด (p < 0.05) จากการศึกษาคุณสมบัติเบื้องต้นของสารแบคเทอริโอซินพบว่ามีความเสถียรในช่วง pH4-10 และในช่วงอุณหภูมิ 40-70 °C และพบว่าสารนี้ถูกทำลายได้ด้วยเอมไซม์ trypsin และ proteinase K แต่ทนต่อเอนไซม์ α-amylase และ lipase จากผลการศึกษานี้สรุปได้ว่าแบคเทอริโอซินจาก B. megaterium BB60a ออกฤทธิ์การยับยั้งเป็นแบบ broad spectrum ทนสภาพกรด-เบสได้ในช่วงกว้าง และทนต่อความร้อน จึงเหมาะสมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงปลาเพื่อยับยั้งการติดเชื้อก่อโรคปลา.
Subject : Bacillus (Bacteria). อาหารหมัก. อาหาร. แบคทีเรีย. บาซิลลัส.