การนำขยะขวดพลาสติกมาข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยนำขวดพลาสติก PET เช่น ขวดน้ำดื่ม และขวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET หรือ rPET) และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า แต่ไม่สามารถนำมาผลิตเป็นภาชนะอาหารและเครื่องดื่มได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมายซึ่งเป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขปี 2548 แต่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร

         สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดทำแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี (2563-2564) ปัจจุบันเสร็จสิ้นโครงการแล้ว มีสาระสำคัญคือ การประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากขยะขวดพลาสติก PET ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย หากได้รับสัมผัสจากการบริโภคอาหารที่ถูกบรรจุในภาชนะบรรจุที่ทำจาก rPET โดยตัวเลขที่ได้นี้มาจากงานวิจัยเท่านั้น แต่การที่จะยอมรับและนำไปใช้ได้จริง ทาง อย.จะต้องนำข้อมูลที่ได้เข้าสู่การพิจารณาจากกลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการอีกครั้ง หากอย.มีการปรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขใหม่อนุญาตให้ใช้ rPET ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ผู้บริโภคก็วางใจในความปลอดภัยได้เช่นกัน 

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ : สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)