การระบาด "โควิด-19" ระลอกใหม่ “ฟ้าทะลายโจร” กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้ฟ้าทะลายโจรยังมีข้อจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้รักษา แต่ยังไม่มีงานวิจัยว่าป้องกันโควิด 19 ได้ 

ข้อมูลการศึกษา จาก กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ชี้ให้เห็นว่า “ฟ้าทะลายโจร” มีสารที่มีฤทธิ์ลดระดับสารที่ก่อการเกิดการอักเสบ การยับยั้ง การเพิ่มจำนวนของไวรัส รวมถึงการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสเอง ทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง ในประเทศไทยมีการศึกษาผ่านการพิจารณาจริยธรรมการศึกษาวิจัยในคนเรียบร้อยแล้ว พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระดับความรุนแรงน้อย ซึ่งได้รับการตรวจยืนยันการติดเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง มีอาการดีขึ้นทุกราย หลังวันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด

เมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ

พร้อมกันนี้ ยังได้ขยายผลต่อยอดงานวิจัยในคน โดยร่วมโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งดูแลผู้ป่วยจากนอกประเทศในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ผลการศึกษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ

รูปภาพ : sanook