คำตอบ

ได้มีนักวิทยาศาสตร์ทำการพัฒนาวัสดุสไตโรโฟม (Styrofoam) ที่มีน้ำหนักเบาและย่อยสลายได้จากโปรตีนจากน้ำนมและดินเหนียว และจากการวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุนั้น พบว่าวัสดุสไตโรโฟม มีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการนำไปใช้ในทางการค้า และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 30 วัน โปรตีนที่นำมาใช้คือ เคซีน (casein) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโปรตีนในน้ำนมวัว 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากนิยมใช้ทำสารยึดเกาะและสารเคลือบกระดาษ เคซีนมีคุณสมบัติในการขึ้นรูปเป็นฟิล์ม และการเคลือบได้ดี ซึ่งสามารถต้านการซึมผ่านของสารที่ไม่มีขั้วได้ เช่น ก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารอโรมา (aroma) จึงนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น สารเคลือบกระดาษ สารยึดเกาะ และบรรจุภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตาม เคซีนยังมีข้อจำกัดต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องความแข็งแรงเชิงกล  และความต้านทานน้ำต่ำ จึงผสมดินเหนียวและกลีเซอรอลดีไฮด์ (glyceraldehyde) ให้เชื่อมต่อกับโมเลกุลของโปรตีนเคซีนเพื่อให้ต้านทานน้ำได้ดีขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ได้นำส่วนผสมที่ได้มาทำให้แห้งด้วยความเย็นเพื่อกำจัดน้ำออกไป ได้เป็นเจลที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำมีน้ำหนักเบา และเพื่อให้โฟมมีความแข็งแรงมากขึ้น จึงนำไปเข้าตู้อบและทดสอบความแข็งแรง วัสดุโฟมที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช่ได้อย่างกว้างขวางด้วยคุณสมบัติที่มีความหนาแน่นต่ำ และมีโครงสร้างหลายชั้น จึงมีสมบัติเชิงกลและเป็นฉนวนป้องกันความร้อนได้ดี รวมทั้งยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สลิลดา บุตรกินรี.โฟมย่อยสลายได้จากน้ำนม.  วารสารการบรรจุภัณฑ์.  (เมษายน-มิถุนายน),  2554,  ปีที่ 19, ฉบับที่ 3, หน้า 37.