การตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผู้เข้าข่าย และยืนยันผู้ป่วย Covid-19 เป็นงานที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญสูง โดยปัจจุบันทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งการรายงานผลที่ผิดพลาดอาจทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ จนอาจละเลยการดูแลป้องกันตนเอง ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้
     

     ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า การตรวจโรคติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศไทย สามารถทำได้ 2 วิธี โดยวิธีแรกคือ real-time RT PCR ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส โดยวิธีการขูดเก็บเยื่อบุในคอ หรือเยื่อหลังโพรงจมูก ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง ต้นทุน 2,500-3,000 บาท/ครั้ง ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี ในขณะที่วิธีที่สอง คือ Rapid test ซึ่งไม่ได้เป็นการตรวจหาเชื้อ แต่เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือด โดยต้องตรวจหลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ค่าตรวจอยู่ที่ประมาณ 200-500 บาท
     โดยวิธี real-time RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) ที่ต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น และเป็นวิธีเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้
     ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการตรวจเพื่อยืนยันผู้เข้าข่าย และยืนยันผู้ป่วย Covid-19 นั้น ความมีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างโดยการขูดเก็บเยื่อบุในคอ หรือเยื่อหลังโพรงจมูกออกมาตรวจหาเชื้อนั้น จะต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น
     เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเทคนิคการแพทย์ ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ นักไวรัสวิทยาแถวหน้าของประเทศ ได้ออกแบบกระบวนการทดสอบเพิ่มเติม โดยอาศัยการตรวจวิเคราะห์ RNA ในส่วนของยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) จากเซลล์มนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถช่วยตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างตรวจ และป้องกันการแปลผลลบผิดพลาด โดยนับเป็นห้องปฏิบัติการตรวจ Covid-19 แห่งแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มนวัตกรรมดังกล่าว โดยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน
     คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การเก็บสิ่งส่งตรวจที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลลบปลอมขึ้นได้ ซึ่งการนำ Housekeeping gene เข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อดูสัญญาณการเพิ่มขึ้นของยีนที่บ่งชี้ในเบื้องต้นว่า มีเซลล์ของมนุษย์ หรือเซลล์เจ้าบ้านอยู่ในสิ่งส่งตรวจอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยดูผลร่วมกับการวิเคราะห์หา RNA ของเชื้อไวรัส จะทำให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำขึ้น ซึ่งหากตรวจเจอสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรค Covid-19 จะแปลผลว่า พบการติดเชื้อ    ห้องปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัย     โรคติดเชื้อ Covid-19 โดยวิธี real-time RT-PCR เพิ่มการวิเคราะห์ RNA ในยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) โดยมี 2 รอบการทดสอบ คือ เวลา 09.30 น. และ 14.30 น. ทั้งนี้ สามารถส่งสิ่งส่งตรวจได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคนานาชาติ บริเวณชั้น 2 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
     “เราเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการของภาครัฐและเอกชนที่มีจำนวนมากกว่า 90 แห่ง ที่ได้รับการรับรองความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้สามารถร่วมให้บริการรองรับความต้องการและทันต่อสถานการณ์ของประเทศได้ ด้วยนวัตกรรมการเพิ่มเติม Housekeeping gene ลงไปในการตรวจ จะทำให้กระบวนการควบคุมคุณภาพสิ่งส่งตรวจ และการแปลผลปฏิกิริยามีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการรายงานผลให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเป็นการพิสูจน์ถึงศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังภารกิจพิชิต Covid-19 โดยเรามุ่งหวังให้ชาวไทยสามารถฟันฝ่าสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด” คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย
     ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา กิติดี โทร. 092-554-5230 หรือทางอีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. สำหรับประชาชนชาวไทยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองได้ตามสิทธิ์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ที่มา : Manager online 16 เมษายน 2563 [https://mgronline.com/qol/detail/9630000039886]