กระแสความตื่นตัวของคนทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกมาแรงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และคำหนึ่งที่มักได้ยินคู่กันมาตลอดก็คือคำว่า Single-use plastic หรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายหลักของการรณรงค์เพื่อลดปริมาณการใช้

Single-use plastic ได้แก่ ถุงก๊อบแก๊บ ขวดน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ก้านสำลีพลาสติก เหล่านี้คือตัวอย่างพลาสติกที่เกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกมนุษย์จนเกินจำเป็น ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานแค่แป๊บเดียว ครั้งเดียว ใช้เสร็จปุ๊บก็โยนทิ้งปั๊บ
กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของขยะพลาสติกที่มากมายจนเกินกำลังในการจัดการ และหลุดรอดออกสู่ทะเลปีละ 8-12 ล้านตันโดยประมาณ
เวบไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ภาพนกทะเลที่ป้อนเศษพลาสติกให้ลูกนกกิน รวมถึงข่าวเต่าทะเลหรือวาฬตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมาก สร้างความสะเทือนใจและทำให้คนทั่วโลกหันมาตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรณรงค์ลดการใช้ขยะที่ไม่ย่อยสลายต่างๆ กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้การต่อต้านผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งกลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ
เดอะการ์เดียนยกตัวอย่างหลายประเทศที่พยายามผลักดันการบังคับใช้กฎหมายลดและแก้ปัญหาขยะ เช่น อังกฤษออกกฎหมายห้ามใช้หลอดพลาสติก แต่อนุโลมให้ใช้หลอดกระดาษที่ย่อยสลายได้แทน ส่วนที่ออสเตรเลียมีการออกกฎหมายห้ามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าแจกถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า แต่ให้รณรงค์การใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าจากวัสดุธรรมชาติแทนเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย
จากการติตตามของพจนานุกรมคอลลินน์ พบว่ามีการใช้งานคำว่า Single-use เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา
ผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษ 'คอลลินส์' ประกาศเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า single-used หรือ ซิงเกิลยูสด์ ถูกยกให้เป็น 'คำศัพท์แห่งปี' ประจำปี 2018 เนื่องจากคำศัพท์ดังกล่าวถูกใช้ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยอ้างอิงจากการสังเกตและจำแนกคำศัพท์ที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมา และสื่อต่างๆ ก็พร้อมใจกันรายงานข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติกันมากขึ้น ซึ่งขยะที่เกิดจากสินค้า 'ใช้ครั้งเดียวทิ้ง' หรือ single-used ส่วนใหญ่มักจะเป็นขยะพลาสติก
คำขวัญที่ถูกนำมาใช้รณรงค์ให้คนรู้จักปฎิเสธการใช้พลาสติกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก็คือ
"If you can't reuse it, refuse it"
"ถ้าของสิ่งนั้นใช้ซ้ำไม่ได้ก็อย่าใช้"
ส่วนคำศัพท์ที่น่าสนใจอีกคำในปีนี้ เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาขยะเช่นกัน คือคำว่า 'พล็อกกิ้ง' plogging ซึ่งเป็นการผสมคำว่า 'pick' (เก็บ, หยิบ) และคำว่า jogging (วิ่ง) เข้าด้วยกัน และมีความหมายใหม่ที่สื่อถึง 'การวิ่งเก็บขยะ' โดยเป็นคำศัพท์ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดกิจกรรมวิ่งเก็บขยะในประเทศสวีเดน

ที่มา : Manager online 27 ธันวาคม 2561  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000128465]