กรมอนามัย ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์ 4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมกันลดมลพิษทางอากาศ

วันนี้ (24 มิ.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว 4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่พระราชทานพระอนุญาตกำหนดให้วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” พระองค์เป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานอันแน่วแน่ มั่นคง ต่อการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและเป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2562 รณรงค์ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่สำคัญ โดยกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั่วโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก และทุกปีจะมีประชากรกว่า 7 ล้านคนเสียชีวิตจากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยกรมอนามัย ดำเนินการเฝ้าระวัง สื่อสารและแจ้งเตือนประชาชนให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันสุขภาพตนเอง รวมทั้งสนับสนุนการใช้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ
ทั้งนี้ การจัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการดูแลใส่ใจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 กำหนดจัดประชุมระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค.นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงานมีการมอบรางวัล “Princess Environmental Health Awards” แก่บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและรางวัลประกวดคลิปวิดีโอด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยตลอดปี 2562 ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ รณรงค์ลดมลพิษอากาศ ด้วยการละเว้นการเผาในที่โล่ง ลดการใช้พลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะ และในปี 2562 กรมอนามัย จะดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กล่าวว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ 63 ในสถานี 33 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน หากเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมาโดยภาพรวมยังทรงตัว ซึ่งมีมลพิษ 3 ชนิดที่เป็นปัญหา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน(PM10) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน(PM2.5) และโอโซน หากประเมินเชิงเวลา พบว่า จะมีปัญหาค่าเกินมาตรฐานในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. และปลายปีเริ่มเดือนธ.ค. หากพิจารณารายพื้นที่ ประเทศไทยจะมีปัญหาใน 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ 1. พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2562 เกิดช่วงเดือนก.พ.-ปลายเม.ย. สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตุนิยมวิทยาระบุว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ทำให้แล้งมากขึ้น อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1-2 องศา และประมาณน้ำฝนลดลง 10 % ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อมีไฟเกิดขึ้นก็จะเผาได้ดี บวกกับแหล่งกำเนิดเกิดจากไฟป่าเป็นหลัก ซึ่ง กว่า 80 % จุดความร้อนจะเกิดในพื้นที่ป่า รวมถึง การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร
พื้นที่ที่ 2 กรุงเทพฯและปริมณฑล ปี 2562 เกิดปัญหาเร็วและจบเร็วในช่วงเดือน พ.ย. 2561-ปลายก.พ.2562 จากปกติจะยืดถึงเดือนเม.ย. ซึ่งแนวโน้มสภาพอากาศรายปีของกทม.ดีขึ้น โดยสาเหตุหลักของมลพิษเกิดจากจราจร ปริมาณการปล่อยไม่ว่าฤดูใดก็จะใกล้เคียงกัน สถานการณ์ที่มีค่าเกินมาตรฐานจึงขึ้นกับสภาพอากาศเป็นหลัก และ3.พื้นที่ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี สถานการณ์ปี 2562 รุนแรงมากขึ้น ค่าเฉลี่ยมลพิษทางอากาศสูงขึ้น เกิดจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งที่จะมีการก่อสร้างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งผลิตหินปูน มีเหมือนแร่หินปูน และโรงปูน แม้จะการควบคุมฝุ่นที่ดีขึ้นมาก เช่น ฉีดน้ำ ล้างถนนมากขึ้น แต่ช่วงหน้าแล้งอากาศก็จะปิด ทำให้สถานการณ์มลพิษเกินมาตรฐาน
สำหรับการแก้ไขมลพิษทางอากาศ ต้องดำเนินการ 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเฉพาะหน้า โดยเน้นที่การควบคุมแหล่งกำเนิด พื้นที่กทม.ต้องขวดขันวินัยจราจร ทำให้การจราจรคล่องตัว ซึ่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะทยอยเสร็จในปี 2563 การจราจรน่าจะดีขึ้น ส่วนภาคเหนือต้องคุมไฟป่าให้ได้ ส่วนพื้นที่หน้าพระลานมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น โรงโม่แบบปิดในอาคาร ถนนคอนกรีตในโรงงาน เป็นต้น 2.มาตรการระยะยาว จะมีการใช้น้ำมันสะอาดที่จะมีการประกาศใช้ทั้งประเทศในปี 2567 มาตรฐานรถใหม่ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศในปี 2564-2565 แต่การจะเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถใหม่ทั้งหมดที่มีกว่า 10 ล้านคันอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี
“ปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นPM2.5พื้นที่กทม.อยู่ที่ 26-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 25 มคก./ลบ.ม.เล็กน้อย อย่างไรก็ตามสถานการณ์PM2.5พื้นที่กทม.ในปีหน้าคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องเตรียมรับมือ ซึ่งจากการถอดบทเรียนในปีนี้ สิ่งสำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันกวดขันวินัยจราจร เพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูแลรถยนต์ตัวเอง รถที่ใช้ดีเซลควรเปลี่ยนมาใช้เติมยูโร 5 ที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กได้มากกว่า 20 %”นายพันศักดิ์กล่าว
ดร.รุจยา บุณยทุมานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มไดออกซินและสารตกค้างยาวนาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นภาคีร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สนับสนุนงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ให้ทันต่อสภาวะมลพิษ เช่น อนุสัญญาสต๊อกโฮล์ม อนุสัญญามินามาตะ มีงานวิจัยและ เป็นห้องปฏิบัติการภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการวิเคราะห์จะช่วยให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อเกิดมลพิษ เช่น การเผาขยะชุมชน การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ในสื่อต่างๆ หรือประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เกิดความตระหนัก และไม่ก่อเกิดมลพิษอากาศ นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ อุปนายกสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและกำหนดมาตรฐานงานอนามัยสิ่งแวดล้อมตามสภาวการณ์ของประเทศ สมาคมฯ ร่วมจัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้ข้อมูลการผลักดันวิชาชีพอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นวิชาชีพควบคุมของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยงานอนามัยสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีมาตรฐาน สามารถควบคุมการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด อาทิ งานสุขาภิบาลอาหาร การควบคุมพาหะนำโรค คุณภาพอากาศ เหตุรำคาญ เป็นต้น การประชุมในครั้งนี้จะมีการเสวนาเรื่องบทบาทของนักอนามัยสิ่งแวดล้อมภายใต้วิชาชีพควบคุมและความก้าวหน้าของการออกพระราชกฤษฎีกาให้วิชาชีพอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นวิชาชีพควบคุม จึงขอเชิญชวนมายังนักอนามัยสิ่งแวดล้อมและผู้สนใจ

ที่มา : Manager online 24 มิถุนายน 2562 [https://mgronline.com/qol/detail/9620000059899]