จุฬาฯ เผยวัคซีนโควิดได้ผลดีใน “ลิง” เตรียมสั่งผลิต 1 หมื่นโดส เดินหน้าทดลองในมนุษย์เฟสแรกช่วงปลายปี 63 คาดเปิดรับสมัครอาสาสมัคร ก.ย.นี้

     แบ่ง 2 กลุ่ม อายุ 18-60 ปี และ 61-80 ปี แบ่งฉีดตามจำนวนโดส 10 30 และ 100 มิลลิกรัม ทั้งกลุ่มได้โดสเท่ากัน 2 เข็ม และกลุ่มโดสสูงก่อนแล้วให้โดสต่ำ ลุ้นวัคซีนชนิดเดียวกัน หากประสบความสำเร็จก่อน อาจข้ามทดลองในเฟส 3 ได้ ช่วยมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 9-12 เดือน
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ชื่อ “CHULA-Cov 19” หลังทดสอบวัคซีนในลิงเข็มที่ 2 โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “CHULA-Cov19” ซึ่งผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง พบว่า ลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี โดยจะเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผน
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนนี้ ด้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคกองทุนวิจัยวัคซีน ซึ่งวัคซีน CHULA-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ ความคืบหน้าล่าสุด ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน CU-Cov19 กระตุ้นเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสสูง เฉลี่ยระดับ 5,000 ไตเติล ถือว่าเกินคาดมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จากผลการทดสอบนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเลือกวัคซีน 2 ตัว ซึ่งมีความแตกต่างในชิ้นส่วนพันธุกรรมเล็กน้อย ส่งไปให้โรงงานผลิตใน 2 โรงงานในต่างประเทศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ตามแผน คือ โรงงานแรกผลิตชิ้นเนื้อวัคซีนภายใน ต.ค.นี้ และโรงงานที่สอง ผลิตตัวชิ้นส่วนไขมันเคลือบวัคซีนใน พ.ย.นี้ โดยสั่งผลิตประมาณ 1 หมื่นโดส สำหรับอาสาสมัคร 5 พันคน อย่างไรก็ตาม การนำมาฉีดในคน เนื่องจากคนจะมีสภาพร่างกายที่สะอาดกว่าลิง ดังนั้น เมื่อรับวัคซีนแล้วอาจจะทำให้กระตุ้นภูมิได้ต่ำกว่าลิงประมาณ 70 เท่า
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า การทดสอบในมนุษย์ จะแบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรกไม่เกินปลายปี 2563 เริ่มจากกลุ่มอายุ 18-60 ปี จำนวน 75 คน แบ่งให้วัคซีน 10, 30 และ 100 ไมโครกรัม กลุ่มละ 15 คน โดยเริ่มที่ 10 ไมโครกรัมก่อน 15 คน หากมี 6 คนได้ผลดีและปลอดภัย จะทำต่อในกลุ่มรับวัคซีน 30 ไมโครกรัม 15 คน และ 100 ไมโครกรัมอีก 15 คน ถ้าได้ผลดี ปลอดภัย จะให้วัคซีนกระตุ้นเข็ม 2 ในปริมาณเท่าเข็มแรก นอกจากนี้ จะมีอีก 2 กลุ่ม โดยให้วัคซีนเข็มแรก 30 ไมโครกรัม เข็มสองลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม จำนวน 15 คน และให้เข็มแรก 100 ไมโครกรัม และเข็มสอง 10 ไมโครกรัม อีก 15 คน ถ้าทั้งหมดมีความปลอดภัย จะให้วัคซีนในอาสาสมัครอายุ 61-80 ปี จำนวน 75 คน ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า เฟสที่ 2 จะใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน คาดว่า จะรู้ผลในกลางปี 2564 ส่วนเฟสที่ 3 ต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ อาจจะทดลองในไทยไม่ได้ เพราะไม่มีคนติดเชื้อ จึงต้องหารือกับประเทศที่มีการระบาด แต่ขณะนี้ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้พัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ประมาณ 18 ตัว มี 4 ตัว ที่ก้าวหน้ากว่าไทยอยู่ 6 เดือน จึงคาดว่าถ้ามี 1 ตัว สำเร็จในต้นปีหน้า และได้รับการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สหรัฐอเมริกา และยุโรปแล้ว อย.ไทยคงสบายใจ และให้ผ่านการทดลองในคนในระยะที่ 3 ไปเลยก็ได้ จะทำให้เราลดระยะเวลาเฟสนี้ได้ถึง 9-12 เดือน จะทำให้มีวัคซีนใช้เร็วขึ้น และคาดว่า รัฐบาลต้องเตรียมจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศร่วมด้วย ส่วนขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศรับอาสาสมัคร ต้องรอให้ อย.รับรองความปลอดภัยก่อน และรอคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์อนุญาต จึงรับอาสาสมัครได้ เบื้องต้นจะประกาศทางการราว ก.ย.นี้

ที่มา : Manager online 12 กรกฏาคม 2563  [https://mgronline.com/qol/detail/9630000071394]