“มจร.วัดไร่ขิง” โชว์งานวิจัยดีเด่น “การอดอาหารตามแนวคิด Intermittent fasting หรือ IF” พร้อมนำเสนอ “THEEB โมเดล” องค์ความรู้ใหม่เชิงพุทธที่บูรณาการมุ่งเน้นการมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพที่ดี

     วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือ มจร.วัดไร่ขิง ได้คัดเลือกวิทยานิพนธ์ดีเด่น ในปี 2563 คืองานวิทยานิพนธ์ผลของโปรแกรมการอดอาหาร ตามแนวคิด “Intermittent fasting” หรือ IF ของ น.ส.ธีระวรรณ สุขสันต์ไพศาล นิสิตพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาหลักพระพุทธศาสนาเถรวาทที่กล่าวถึงการอดอาหารให้เป็นไปเพื่อการรักษาสมดุลในการดำรงอยู่อย่างปกติสุขทั้งร่างกายและจิตใจ มาใช้เป็นพุทธวิธีในการฝึกปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสดา ร่วมกับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตามแนวคิด “อินเทอมิเท็นฟาส์ตติ้ง “หรือ Intermittent Fasting (ไอเอฟ)
โดยได้วิจัยกับกลุ่มตัวอย่างพระนิสิต และประชาชนทั่วไป จำนวน 15 รูป/คน อายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต โดยให้กลุ่มตัวอย่างเข้าโปรแกรมไอเอฟ จัดเวลาการบริโภคอาหารใน 1 วัน แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงบริโภคอาหาร และช่วงอดอาหาร ด้วยการกำหนดเวลาในการอดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมง จำนวน 14 วัน ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่า มีผลทำให้ไขมันที่สะสมอยู่ที่หน้าท้องลดลงและระบบเผาผลาญพลังงานดีขึ้นทำให้น้ำหนักลดลง
ผลจากการวิจัยพบว่า ในทุกด้านมีค่าเฉลี่ยก่อนการทดลองสูงกว่าหลังการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ ค่าดัชนีมวลกายลดลง ค่าน้ำหนักตัว เส้นรอบเอวลดลง ระดับไขมันในช่องท้องลดลง เปอร์เซ็นไขมันในร่างกายลดลง ระดับไขมันในเลือดลดลง และระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการสวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญ เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ มีการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีผลสอดคล้องและช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยครั้งนี้เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น
น.ส.ธีระวรรณ เจ้าของวิทยานิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลงานวิจัยครั้งนี้ยังได้นำเสนอองค์ความรู้ใหม่เชิงพุทธบูรณาการมุ่งเน้นการมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพที่ดี คือ “THEEB โมเดล” ประกอบด้วย Though คือ ความคิดดำริชอบทบทวนรอบด้าน ตามหลักพระพุทธศาสนา ความคิดสำคัญที่สุด ความคิดที่ถูกต้องทำให้เราเข้าใจ และจะกำหนดทิศทางกระทำที่ถูกได้ Harmony กลมกลืนกับสรรพสิ่ง สุขภาพจะดีอย่างยั่งยืนได้ คือการปรับพฤติกรรม และวิถีชีวิตให้สอดคล้องกัน Exercise ออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ Eating การบริโภคอาหารเพื่อประโยชน์ในการดำรงอยู่ของขันธ์ห้า มิใช่เพื่อสนองกิเลส บริโภคแต่พอดี ตามหลักโภชเนมัตตัญญุตา Balancing รักษาสมดุลในการบริโภค เว้นช่วงเวลาในแต่ละวันจากการบริโภคอย่างน้อย 16 ชั่วโมง

ที่มา : Manager online 16 สิงหาคม 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000083933]