เสฉวนประสบอุทกภัยใหญ่น่าใจหายใจคว่ำ ขนาดที่ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี! ที่น้ำท่วมสูงถึงนิ้วพระบาทพระพุทธรูปใหญ่เล่อซัน พระพุทธรูปหินแกะสลักรูปพระเมตไตรยปางประทับนั่งที่ใหญ่สุดในโลก

      คณะกรรมาธิการดูแลเขตทัศนียภาพพระพุทธรูปเล่อซันแถลงเมื่อวันอังคาร (18 ส.ค.) โดยอ้างอิงกรมอุทกวิทยามณฑลเสฉวน ระบุว่าน้ำท่วมมณฑลครั้งนี้หนักสุดในรอบ 50 ปี
พระพุทธรูปใหญ่เล่อซันจะอาจต้านพายุฝน สงบนิ่งดั่งขุนเขาอยู่ได้อีกต่อไปหรือไม่?
พระพุทธรูปใหญ่เล่อซัน อีกชื่อคือพระพุทธรูปใหญ่หลิงอวิ๋น และมักถูกเรียกขานว่า “พระใหญ่เล่อซัน” องค์นี้ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำหนันหมิน เมืองเล่อซัน มณฑลเสฉวน ใกล้บริเวณที่ลำน้ำสามสาย หมินเจียง ต้าตู้เหอ และชิงอีเจียง ไหลมาบรรจบกัน
พระใหญ่เล่อซันมีความสูง 71 เมตร พระกรรณ (หู) ยาว 7 เมตร นิ้วยาว 8.3 เมตร หลังพระบาท (เท้า) กว้าง 9 เมตรซึ่งใหญ่พอสำหรับคนร้อยคนนั่งเล่น ช่วงไหล่กว้าง 24 เมตร พอสำหรับเป็นสนามบาสเก็ตบอล
“พระพุทธรูปใหญ่ปกป้องนครแห่งน้ำ”
เป็นที่เล่าขานกันว่า พระใหญ่เล่อซันถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องเมืองแห่งสายน้ำ
พระพุทธรูปใหญ่เล่อซันเกิดจากพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาสมัยราชวงศ์ถัง จากยุคจักรพรรดินีบูเช็คเทียน หรือสำเนียงจีนกลางคือ อู่เจ๋อเทียน(武则天)ผู้ทรงเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเมตไตรยกลับชาติมาเกิด พระเมตไตรยกลายเป็นที่สักการบูชาในยุคราชวงศ์ถัง ต่อมา หลวงจีนไห่ทง (海通)ได้ดำริสร้างพระพุทธรูปใหญ่เล่อซัน การก่อสร้างฯได้เริ่มในต้นรัชสมัยฮ่องเต้เสวียนจงแห่งราชวงศ์ถัง (唐玄宗) ค.ศ. 723 โดยมีเป้าหมายลดความเสี่ยงภยันตรายจากน้ำหลาก คุ้มครองประชาชน
“ทิศใต้ของมณฑลเสฉวน มีแม่น้ำใหญ่หมินเจียงไหลผ่านจากเหนือสู่ใต้ กระแสน้ำหมินเจียงแปรปรวนป่วนคลั่ง มักล่มเรือที่แล่นผ่าน กลืนชีวิตผู้คนที่สัญจร จนมีตำนานเล่าขานเมื่อ 1,200 กว่า ปีที่แล้วว่า หลวงจีนไห่ทงได้ภาวนาขอพลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเรือและผู้คน”

งานก่อสร้างพระพุทธรูปใหญ่ดำเนินมาถึงสามรัชสมัย โดยแล้วเสร็จในสมัยฮ่องเต้ถังเต๋อจง (唐德宗) ปี ค.ศ. 803 รวมเวลาก่อสร้าง 90 ปี
พระใหญ่เล่อซันฝ่าพายุร้ายฝนซัดกระหน่ำอย่างสงบนิ่งเหนือแดนสบน้ำสามสายพันกว่าปี มิใช่เพียงพลังอำนาจลี้ลับ หากมีความลับที่ฝังอยู่ภายในองค์พระพุทธรูปมหึมาองค์นี้
“ค่ายกลระบบระบายน้ำ”
การศึกษาวิจัยพบว่า ที่ช่องพระกรรณ (หู) สองข้างและหลังเศียรพระพุทธรูปใหญ่มีระบบระบายน้ำซ่อนอยู่ ระบบระบายน้ำขั้นเทพนี้เองที่ช่วยคุ้มครองผู้คนต้านทานภัยพิบัติจากน้ำท่วมใหญ่ อีกทั้งยังช่วยให้พระพุทธรูปมหึมายืนยงคู่ขุนเขามากว่าพันปี
บนพระเศียร...พระเกศาขมวดเป็นปมลายก้นหอย 18 ชั้น (1,021 ปม) มีบทบาทสำคัญในการช่วยปกป้องพระพุทธรูป ทำให้องค์พระพุทธรูปหินไม่ถูกน้ำฝนกัดเซาะ โดยที่ชั้น 4, 9 และ 18 มีคูระบายน้ำพาดในแนวขวางโดยช่างได้ตกแต่งอย่างแนบเนียนทำให้เมื่อมองจากระยะไกลจะไม่เห็นคูระบายน้ำเหล่านี้
จีวรบริเวณพระอุระ (อก) ยังเชื่อมกับระบบระบายน้ำ โดยที่คอและรอยพับของจีวรมีคูระบายน้ำฝังไว้และเชื่อมกับด้านหลังของแขนขวาซึ่งส่งน้ำตรงไปที่คูระบายน้ำบริเวณพระอุระ (ท้อง)ด้านขวา น้ำจะไหลไปที่พระบาทขวาและลงสู่แม่น้ำหมินเจียง
ช่างโบราณยังสร้างระเบียงระบายน้ำสองชั้นบริเวณด้านหลังของพระกรรณ (หู) สองข้างและคอ เพื่อป้องกันน้ำใต้ดินบนเขาซึมเข้ามาในตัวพระพุทธรูป โดยน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำหมินเจียง
นอกจากนี้ ตรงหลังหูสองข้างที่พิงหน้าผายังมีถ้ำซ้ายขวายาว 9.15 เมตร กว้าง 1.26 เมตร สูง 3.38 เมตรทะลุถึงกัน
ด้านหลังของพระอุระแต่ละข้างยังมีอุโมงค์ ได้แก่ ด้านขวาลึก 16.5 เมตร กว้าง 0.95 เมตร สูง 1.35 เมตร ส่วนอุโมงค์ด้านซ้าย ลึก 8.1 เมตร กว้าง 0.95 เมตร สูง 1.1 เมตร แต่ก็ไม่มีใครรู้เหตุผลว่าทำไมไม่เจาะอุโมงค์สองอันนี้ทะลุถึงกัน
เครือข่ายถ้ำและคูระบายน้ำเหล่านี้ราวกับค่ายกลที่ประกอบด้วยระบบระบายน้ำ ฉนวนป้องกันความชื้น และช่องระบายอากาศ ระบบฯดังกล่าวสร้างขึ้นสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์โดยมีบทบาทสำคัญช่วยรักษาพระพุทธรูปใหญ่ ป้องกันการซัดเซาะจากสภาพอากาศมานับพันปี
นี่คือ อัจฉริยภาพของช่างโบราณ ภูมิปัญญาจีน!

ที่มา : Manager online 20 สิงหาคม 2563  [https://mgronline.com/china/detail/9630000085569]