หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นแผ่นดิน แต่เป็นสายธารขนาดมหึมาบนท้องฟ้าที่เรามองไม่เห็น ซึ่งแวดวงวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river) หรือกระแสของไอน้ำที่ไหลเวียนและพัดพาเอาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก

ปรากฏการณ์โพลีเนีย (Polynya) นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี 2017

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาลิฟาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ค้นพบบทบาทหน้าที่ใหม่ของแม่น้ำบนท้องฟ้าดังกล่าวในทางอุตุนิยมวิทยาแล้ว ซึ่งช่วยไขปริศนาที่มีมานานว่า เหตุใดผืนน้ำแข็งในมหาสมุทรแถบขั้วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแอนตาร์กติก จึงมักจะเกิดรูโหว่ขนาดใหญ่มหึมาขึ้นในแทบทุกปี

.

ช่องโหว่ขนาดยักษ์กลางผืนน้ำแข็ง หรือ "โพลีเนีย" (Polynya) มีความกว้างหลายหมื่นไปจนถึงหลายแสนตารางกิโลเมตร ในบางครั้งพบว่ามีขนาดใหญ่ยิ่งกว่าประเทศเนเธอร์แลนด์เสียอีก แต่การละลายของน้ำแข็งในรูปแบบประหลาดนี้มีมานานในบันทึกประวัติศาสตร์และในบางปีก็ไม่เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่ามันไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

.

แม้ช่องโหว่โพลีเนียจะสามารถปิดตัวลงเองได้ตามฤดูกาล แต่ก็สามารถเกิดซ้ำในตำแหน่งเดิม ซึ่งก็พลอยมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสูญเสียพื้นที่หิมะสีขาวช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่ห้วงอวกาศ ในขณะที่ช่องโหว่ซึ่งเป็นผืนน้ำทะเลสีเข้มกลับดูดซับความร้อนเอาไว้มากขึ้น

.

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยคาลิฟาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า ทีมผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลดาวเทียมเกี่ยวกับสภาพอากาศระหว่างเหตุการณ์โพลีเนียครั้งใหญ่ในปี 1973 และ 2017 ซึ่งเกิดขึ้นตรงผืนน้ำแข็งบริเวณทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) และนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา

.

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นแถบของกลุ่มเมฆใน "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river)

.

ผลวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การไหลของกระแสไอน้ำและความร้อนในท้องฟ้านั้นเดินทางไปไกลเกินคาด โดยในปี 2017 แม่น้ำในชั้นบรรยากาศสายหนึ่งเคลื่อนจากชายฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ ลงต่ำไปยังอาณาเขตของทะเลเวดเดลล์ จนทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียสในเดือนกันยายนของปีนั้น ทั้งเกิดรูโหว่ขนาดยักษ์ขึ้นบนผืนน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกด้วย

.

นอกจากจะทำให้อากาศร้อนขึ้นแล้ว แม่น้ำในชั้นบรรยากาศยังทำให้เกิดพายุไซโคลนได้บ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น เพราะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณไอน้ำอย่างมหาศาล โดยพายุนี้จะทำให้เกิดคลื่นลมซัดผืนน้ำแข็งส่วนที่เริ่มละลายและอ่อนตัวให้สลายไปกลายเป็นช่องโหว่

.

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ในระยะยาวว่า หากอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศยังคงไม่ลดลงอยู่เช่นนี้ ภาวะโลกร้อนที่ยิ่งย่ำแย่ลงจะทำให้อัตราการเกิดแม่น้ำในชั้นบรรยากาศมีบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิมถึง 50% ซึ่งก็จะพลอยทำให้ปรากฏการณ์โพลีเนียพบได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้นตามไปด้วย

.

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-54919427