องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) ได้เผยแพร่ภาพปรากฏการณ์แสงบนท้องฟ้าที่สวยงามตระการตาซึ่งมีลักษณะเป็นลำแสงโค้งสีม่วง

นาซาเผยแพร่ภาพงดงามของปรากฏการณ์ "สตีฟ" (Steve) และ ทางช้างเผือก (Milky Way) เหนือทะเลสาบไชลด์ส ในแคนาดา เมื่อปี 2017

 

องค์การนาซาพยายามศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์แสงปริศนาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี 2015 โดยมีการสนับสนุนเงินทุนในโครงการวิทยาศาสตร์ที่ขอให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันบันทึกข้อมูลการพบเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์นี้

.

แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับลำแสงชนิดนี้ แต่มีการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้มันว่า Strong Thermal Emission Velocity Enhancement (การปล่อยความร้อนรุนแรงจากการเร่งความเร็ว) หรือ Steve (สตีฟ) เพราะเชื่อว่าเกิดจากกลุ่มก๊าซร้อนหลายพันองศาเซลเซียสที่ด้านบนของชั้นบรรยากาศโลก

.

สตีฟคืออะไร

หนึ่งสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทราบก็คือ สตีฟไม่ใช่แสงเหนือ หรือ ออโรร่า บอเรลลิส (aurora borealis) เพราะไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคในลมสุริยะกับสนามแม่เหล็กโลก และเคยถูกพบเห็นมาแล้วบ่อยครั้ง เพียงแต่ไม่มีผู้ใดสังเกตถึงความแตกต่างและบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ

.

นาซา บรรยายถึงลักษณะของสตีฟว่าเป็นลำแสงโค้งลีบเล็ก ทอดตัวเป็นแนวจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก และมีความยาวหลายร้อยหรือหลายพันไมล์

.

นาซาพยายามศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์แสงปริศนาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี 2015

.

ส่วนใหญ่สตีฟมักเปล่งแสงออกสีม่วง และอาจปรากฏอยู่บนท้องฟ้าได้นานถึง 1 ชั่วโมง บางครั้งอาจปรากฏตัวร่วมกับแสงเหนือที่มีลักษณะคล้ายรั้วสีเขียวที่ขยับไปมาอย่างรวดเร็ว

.

นาซาบอกว่า การเปล่งแสงสีม่วงของสตีฟน่าจะเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของไอออนด้วยความเร็วเหนือเสียง

.

ปรากฏการณ์สตีฟได้รับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง หลังจากศาสตราจารย์อีริค โดโนแวน จากมหาวิทยาลัยคาลการีของแคนาดา พบภาพลำแสงโค้งสีม่วงในกลุ่มทางเฟซบุ๊กของนักติดตามดูแสงเหนือรัฐอัลเบอร์ตา (Alberta Aurora Chasers) และเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์แสงบนท้องฟ้าแบบใหม่ที่ยังไม่ได้มีการจัดจำแนกประเภททางวิชาการ

.

การค้นพบของนักติดตามดูแสงเหนือมือสมัครเล่น นำไปสู่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA)

.

หลังการค้นพบดังกล่าว ได้มีการตรวจสอบปรากฏการณ์แสงนี้โดยฝูงดาวเทียม SWARM ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งจากการบินผ่านกลุ่มก๊าซที่มีลักษณะคล้ายริบบิ้นยาว 25 กิโลเมตร และอยู่สูงเหนือพื้นโลก 300 กิโลเมตร พบว่าภายในกลุ่มก๊าซมีความร้อนสูงกว่าชั้นบรรยากาศโลกโดยรอบถึง 3,000 องศาเซลเซียส และกระแสก๊าซภายในไหลพุ่งไปทางตะวันตกด้วยความเร็วถึง 6 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่ากระแสอากาศในบริเวณเดียวกัน 600 เท่า

.

ในตอนแรก กลุ่มผู้ค้นพบปรากฏการณ์แสงนี้เรียกมันว่า "โค้งโปรตอน" ทั้งที่ไม่ได้เกิดจากอนุภาคโปรตอนแต่อย่างใด ซึ่งในภายหลังมีสมาชิกของกลุ่มเสนอให้เรียกแสงบนท้องฟ้าชนิดนี้ว่า "สตีฟ" ตามชื่อที่ตัวละครในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Over the Hedge (แก๊งสี่ขา ข้ามป่ามาป่วนเมือง) ตั้งให้กับสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

.

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-55010031