"เราไม่มีข้อแก้ตัวเลยในสิ่งที่เรากำลังทำต่อลูกหลานของเราอยู่" นักประสาทวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศส มิเชล เดมูร์เจท์ กล่าว

"เรากำลังทำให้อนาคตของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย"

เขาเชื่อว่าอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ กำลังส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เดมูร์เจท์ เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ชื่อ "The Digital Cretin (or Idiot) Factory" โดยบอกว่ามีข้อมูลสนับสนุนข้อสรุปนี้มากมาย

.

เดมูร์เจท์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติฝรั่งเศส และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาที่เคยทำงานกับสถาบันชั้นนำอย่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ

.

ข้อเสนอที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในหนังสือเล่มใหม่ของเขาคือ "คนยุคดิจิทัลรุ่นแรก" หรือเด็กที่เกิดหลังการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมแล้ว มีระดับไอคิวต่ำกว่าพ่อแม่ของพวกเขา

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า จากที่ระดับไอคิวของคนในประเทศต่าง ๆ เคยเพิ่มขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น แต่ตอนนี้แนวโน้มนี้กำลังเปลี่ยนไปตรงกันข้าม

.

เขาบอกว่า จริงอยู่ที่ระดับไอคิวขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างคุณภาพระบบสาธารณสุข การศึกษา และอาหาร ในประเทศนั้น ๆ แต่เมื่อมองดูจากประเทศที่ปัจจัยทางเศษฐกิจและสังคมมีเสถียรภาพมาหลายทศวรรษแล้ว แนวโน้มก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ดี เช่นในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นต้น

.

เมื่อถามว่าเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เด็กมีไอคิวลดลงหรือไม่ เดมูร์เจท์ บอกว่ายังไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ว่าแต่ละปัจจัย อาทิ การอยู่หน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานาน หรือว่าการได้รับมลพิษ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

.

"[แต่] เรารู้แน่ชัดว่าเวลาที่เด็กใช้อยู่หน้าจอมีผลกระทบมากต่อระดับไอคิว แม้ว่านั่นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวก็ตาม"

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า เด็กใช้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการทางภาษาและอารมณ์ นอกจากนี้ เด็กทำกิจกรรมอื่นซึ่งมีประโยชน์ต่อสมอง อย่างทำการบ้าน ฟังเพลง สร้างงานศิลปะ หรืออ่านหนังสือ น้อยลงไปด้วย

.

นักประสาทวิทยารายนี้บอกว่า สมองคนเราเป็นอวัยวะที่จะมีพัฒนาการต่อเนื่อง ขณะที่โลกที่เราอาศัยอยู่ ประสบการณ์และความท้าทายที่คนเรากำลังเผชิญ มีส่วนกำหนดโครงสร้างสมองของคนเรา

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า นักวิจัยสังเกตว่าช่วงเวลาที่คนอยู่กับหน้าจอเพื่อความบันเทิง เป็นตัวชะลอพัฒนาการของสมอง และมีผลต่อการทำงานของสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาและการมีสมาธิ ขณะที่การทำงานที่ต้องใช้ความคิดสติปัญญา การอ่านหนังสือ การฟังเพลง หรือเล่นกีฬา จะสามารถช่วยสร้างเสริมโครงสร้างและเป็นประโยชน์ต่อสมองมากกว่า

.

เดมูร์เจท์ เปรียบสมองคนเราเหมือนดินน้ำมัน สมองของเด็กและวัยรุ่นจะยังมีความอ่อนนุ่ม ปั้นง่าย แต่พอแก่ตัวขึ้น มันจะเริ่มแห้งและเปลี่ยนรูปร่างได้ยากขึ้น

.

นักประสาทวิทยารายนี้ บอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กอายุ 2 ขวบใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงไปกับหน้าจอ และราว 5 ชั่วโมงสำหรับเด็กอายุ 8 ขวบ ส่วนวัยรุ่นใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน

.

"นั่นหมายความว่าก่อนจะอายุ 18 ปี เด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอเพื่อความบันเทิงเทียบเท่ากับ 30 ปีในโรงเรียน หรือเทียบเท่ากับการทำงานเต็มเวลานานถึง 16 ปี ...นี่ถือว่าบ้าไปแล้วและเป็นการไร้ความรับผิดชอบ [ของผู้ใหญ่] มาก ๆ"

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า เด็กอายุต่ำกว่ากว่า 6 ขวบไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเลย และเด็กตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป อาจจะใช้เวลาหน้าจอได้ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน

.

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์อื่น ๆ ที่ควรใช้คือ ห้ามใช้เวลาหน้าจอก่อนไปโรงเรียน และก่อนเข้านอน และไม่อนุญาตให้เด็กใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในห้องนอน

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า สื่อกระแสหลักเต็มไปด้วยข้อมูลกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐาน และการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่ทราบถึงภัยที่แท้จริงของการใช้เวลาหน้าจอเยอะเกินไป

.

เมื่อถามถึงงานวิจัยที่บอกว่าวิดีโอเกมช่วยให้เด็กเรียนดีมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสผู้นี้บอกว่านั่นเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี และเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะงานวิจัยเหล่านั้นเป็นการศึกษากรณีเดี่ยว ๆ แยกกัน และก็ไม่ได้มีข้อมูลที่มีน้ำหนักมาสนับสนุน

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า เขามักจะได้ยินความคิดที่ว่า "คนยุคดิจิทัลรุ่นแรก" มีความรู้ "แตกต่างออกไป" จากคนรุ่นก่อนหน้า หมายความว่าแม้ว่าพวกเขาอาจจะเก่งภาษา มีสมาธิ และมีความรู้ น้อยลง แต่พวกเขาเก่ง "เรื่องอื่น ๆ" แทน

.

แต่คำถามคือ "เรื่องอื่น ๆ" ที่ว่านั้นคืออะไร

.

"สำหรับผม เด็กเหล่านี้เหมือนกับที่ อัลดัส ฮักซลีย์ เขียนไว้ในนวนิยาย "Brave New World" ที่ถูกทำให้งงงวยโดยสิ่งบันเทิงที่โง่เง่า ปราศจากภาษา ไม่สามารถคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับโลกได้ แต่ก็มีความสุขกับโชคชะตาของตัวเอง"

.

เดมูร์เจท์ บอกว่า ทุกวันนี้ ไต้หวันได้กำหนดให้การปล่อยเด็กให้ใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปเป็นรูปแบบการทารุณกรรมเด็กอย่างหนึ่งแล้ว ส่วนที่จีนก็มีกฎจำกัดเล่นเกมสำหรับเด็กแล้ว โดยห้ามเล่นระหว่าง 4 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า ห้ามเกิน 90 นาทีต่อวัน ในช่วงวันธรรมดา

.

อย่างไรก็ดี เดมูร์เจท์ ไม่ได้สนับสนุนให้มีกฎหมายปกป้องเด็กไม่ให้ใช้เวลาหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป แต่ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและครอบคลุมแก่พ่อแม่ โดยกฎเกณฑ์ง่าย ๆ ที่ควรเริ่มใช้คือ ห้ามให้ใช้เวลาหน้าจอเลยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และจากนั้นเป็นต้นไปอาจจะให้ใช้เวลาได้ 30-60 นาที ต่อวัน

.

ที่มา : BBC News https://www.bbc.com/thai/international-55013410