ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำการศึกษาและวิจัยพัฒนานวัตกรรมของโลก ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์มีความผูกพันใกล้ชิดมาช้านาน ตั้งแต่สัมพันธไมตรีของราชสำนัก การพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนอุตสาหกรรม รวมทั้งความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยก็ก้าวหน้าไม่แพ้กัน



เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยเกียวโตแห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติ “การศึกษาและการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในภาคพื้นเอเชีย” (The Kyoto University International Symposium 2020 on Education and Research in Global Environmental Studies in Asia) ผ่านโปรแกรมซูมประชุมทางไกล โดยมี ศ.นางาฮิโร มินาโตะ (Nagahiro Minato) อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกียวโต และ ศ.นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนา
.
การศึกษาและวิจัยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นนั้นจำเป็นต้องใช้พลวัตรในองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือกันในการดำเนินงาน เป็นที่น่ายินดีที่งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 381 คน จาก 71 มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำจาก 18 ประเทศเข้าร่วมงาน ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อินเดีย จีน ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน แทนซาเนีย เวียดนาม และไทย เป็นต้น

.

ข้อสรุปความร่วมมือ จากการแบ่งปันประสบการณ์การสัมมนาของนักวิจัยรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ในการศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อมโลกในภาคพื้นเอเซีย แบ่งเป็น 4 ด้านคือ

.

1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology) มุ่งประเด็นความร่วมมือในการบำบัดสารมลพิษและการนำทรัพยากรที่มีไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและเหมาะสม เช่น การสังเคราะห์แผ่นนาโนแบบลำดับขั้นที่ดัดแปลงด้วย Ga2O3 เพื่อการบำบัดสารมลพิษ การผลิตพลังงานจากกากตะกอนของน้ำเสียด้วย Anaerobic Co-Digestion การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีทีเหมาะสมกับประเทศในเอเชีย การใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อกิจกรรมทางการเกษตร

.

2. การเกษตรและชีวภาพ (Agriculture & Biology) ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการผลิตอาหารและพลังงาน นำเสนอเทคโนโลยีด้านการเกษตรและชีวภาพที่สะอาดและเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตภายใต้ข้อจำกัดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำฟาร์มเกษตร เช่น การใช้เทคโนโลยีไบโอเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตร การศึกษาการตอบสนองของพืชพืชจากการใช้ยาปราบศัตรูพืชต่อ Extracellular DNA and Secreted RNA การนำชีวมวลไปใช้ประโยชน์โดยเน้นไปที่การวิจัยด้านนาโนเซลลูโลสและนาโนไคติน

.

3. การวางแผนผังพัฒนาเมืองและชนบท (Urban & Rural Planning) มุ่งให้เกิดความน่าอยู่ ปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตและสอดคล้องเกื้อหนุนกัน ด้วยแนวทางงานวิจัยแบบจำลองต่างๆ ในการฟื้นฟูและพัฒนาชนบทสู่เป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น การประเมินการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่ในอินโดนิเซียด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและแบบจำลองการขยายตัวเชิงพื้นที่ การบรรเทาคลื่นความร้อนในเขตเมืองของประเทศกำลังพัฒนา การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา

.

4. นโยบายและเศรษฐกิจ (Policy & Economics) เน้นการใช้สหวิทยาการในด้านสิ่งแวดล้อม และการรับมือภัยพิบัติในแหล่งท่องเที่ยวภาคพื้นเอเซียอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแผนสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การประเมินทางนโยบายของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษในอากาศ การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจากการพัฒนาการท่องเที่ยวในชนบท การใช้เทคโนโลยี IoT ราคาถูกเพื่อการตรวจติดตามคุณภาพน้ำในแม่น้ำ เป็นต้น

.

สำหรับแผนพัฒนาขยายความร่วมมือวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการวิจัยด้านสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัย
เกียวโต ไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของเอเซีย อาทิ Tsinghua University, University of Malaya โดยจะส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสารมลพิษต่างๆ ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในแหล่งน้ำ ในดิน และในอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาต่อสภาพแวดล้อมและก่อผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ได้แก่ การวิจัยประโยชน์ต่อสุขภาพจากนโยบายการลดปริมาณ PM 2.5 สำหรับการขนส่งทางบกในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล, การวิจัยการกระจายตัวของของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในบริเวณปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา, การวิจัยการตกค้างของยาปฏิชีวนะและการเกิดเชื้ออีโคไล (E.Coli) ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในโรงบำบัดน้ำเสียและโรงปรับปรุงคุณภาพสิ่งปฏิกูลในเขตกรุงเทพฯ และการวิจัยการตกค้างและวิธีการบำบัดสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานกลุ่ม PFAS (PFOS และ PFOA) ภัยเงียบที่พบการตกค้างในน้ำดื่มทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคม
.

การประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยได้ใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 ในประเทศไทย (Post COVID-19 Countermeasures in Education and Research) มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อ Moving Teaching Online - Kyoto University’s Response to COVID-19 โดย ศ.ฮาจิเมะ คิตะ (Hajime Kita), ความสำเร็จของประเทศไทยในการจัดการโควิด-19 ในหัวข้อ โควิด19 :ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทางการแพทย์และการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา (COVID-19 : Catalyst of the Change in Medical Education and Technological Development) โดยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

.

ในอดีต เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล ถูกจำกัด หากนักศึกษาแพทย์ต้องการศึกษาจะต้องศึกษาในสถานที่ที่จัดไว้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารและการแพทย์ทางไกลทั่วโลกต่างให้การยอมรับ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และนำมาใช้ร่วมกับการศึกษา โดยนักศึกษาแพทย์สามารถเข้าร่วมชั้นเรียนได้ทั้ง แบบ Synchronous and Asynchronousได้ทั้งแบบออนไลน์และแบบออนดีมานด์ มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจบางอย่าง เช่น Interactive Multimedia, Interactive Video ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์และกองสารสนเทศปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์การเรียนรู้ จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้าง "Adaptive Learning" ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพยกระดับการศึกษาทางการแพทย์ของประเทศไทยสู่ระดับโลก

.

นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนจะร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมโยงการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพหรือข้อมูลการศึกษา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะทำการตั้งค่าอัลกอริทึมของข้อมูลและการประยุกต์ใช้ทางเทคนิค AI ด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะร่วมพัฒนาชีวิตวิถีใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น 

.
ดังนั้น การระบาดของ COVID-19 จึงเป็นตัวเร่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทางการแพทย์และเทคโนโลยีของโลก

.

เรื่องโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

.

ที่มา : http://siweb.dss.go.th/administrator/index.php?option=com_content&view=article&layout=edit