นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์และผู้ประกอบวิชาชีพด้านจิตบำบัดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องปรับตัว โดยเฉพาะในเรื่องการพบปะกับคนไข้หรือผู้ขอรับคำปรึกษาในคลีนิคหรือสำนักงานซึ่งเป็นสถานที่ปิดและอากาศระบายถ่ายเทได้ไม่ดีนัก ด้วยการหารูปแบบทางเลือกใหม่ของการหารือกับคนไข้แทนที่จะเป็นในสำนักงาน

โดยตัวอย่างของเรื่องนี้คือคุณอเล็กซานดรา ทัลตี้ นักเขียนสตรีคนหนึ่งในนครนิวยอร์กผู้เคยพบปะกับนักจิตบำบัดแบบตัวต่อตัว แต่หลังจากที่เกิดโรคระบาดใหญ่แล้วเธอตัดสินใจว่าวิธีดังกล่าวไม่ปลอดภัยอีกต่อไปเพราะคนที่นั่งอยู่ตรงข้ามรวมทั้งสถานที่อาจทำให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นคุณทัลตี้จึงขอพบกับนักจิตบำบัดที่สนามหลังบ้านแทน

.

คุณอเล็กซานดรา ทัลตี้ ไม่ได้เป็นคนเดียวในยุคนี้ที่รู้สึกไม่สบายใจกับการพบปะใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าในสถานที่ปิด และนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด รวมถึงที่ปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวก็พยายามหาวิธีและสถานที่ใหม่ๆ สำหรับพูดคุยสนทนากับลูกค้าหรือคนไข้ของตนเช่นกัน โดยรูปแบบหรือสถานที่ดังกล่าวอาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ outdoor therapy หรือการใช้สถานที่กลางแจ้ง teletherapy หรือการพบปะแบบออนไลน์ และ eco-therapy คือการใช้ธรรมชาติเป็นฉากหลัง

.

สำหรับ outdoor therapy หรือการพบปะในที่กลางแจ้งนั้นแต่ละคนจะสามารถถอดหน้ากากได้ถ้ามีระยะห่างมากพอ แต่คุณทัตยาน่า โคโลคอฟ นักจิตบำบัดในรัฐนอร์ทแคโรไลนาบอกว่าการถอดหน้ากากสำคัญมากกว่าการช่วยลดความอึดอัดลงเพราะจะทำให้ที่ปรึกษาสามารถสังเกตการแสดงออกทางสีหน้าจากคนไข้ของตนได้ดีขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม การนัดพบในที่กลางแจ้ง เช่น ในสวนสาธารณะหรือที่สนามหลังบ้านนี้อาจมีปัญหาได้ในแง่ความเป็นส่วนตัว เพราะอาจมีคนที่ผ่านไปมาได้ยินเรื่องราวที่สนทนากันและสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้อย่างเช่นฝน หิมะ ความร้อนความหนาว หรือแม้กระทั่งสิ่งก่อสร้างและสัตว์ต่างๆ ก็อาจทำให้สมาธิต้องเสียไปได้

.

วิธีที่สองของทางเลือกการให้คำปรึกษาคือ teletherapy ด้วยการใช้โปรแกรม อย่างเช่น Zoom หรือ Microsoft Teams ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าแต่ข้อด้อยของวิธีนี้ก็คือทำให้ทั้งสองฝ่ายขาดความรู้สึกว่าได้พบกันแบบใกล้ชิดอย่างแท้จริง

.

วิธีที่สามเป็นรูปแบบหนึ่งของ outdoor therapy แต่อาศัยธรรมชาติเข้าช่วย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า eco-therapy โดยสถานที่อาจจะเป็นสวนป่า เขตอุทยาน หรือที่ชายหาดก็ได้เพราะเป็นที่เชื่อกันว่าธรรมชาตินั้นช่วยลด cortisol หรือฮอร์โมนของความเครียดลงได้

.

โดยที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาบางคนใช้วิธีนัดกับคนไข้ที่จุดเริ่มต้นของทางเดินในป่าแล้วเดินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดซึ่งทั้งสองฝ่ายรู้สึกพอใจร่วมกัน ซึ่งการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาท่ามกลางธรรมชาตินี้นอกจากจะช่วยเป็นหลักประกันเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้วบางครั้งนักจิตวิทยายังใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม เช่น ให้คนไข้พิงต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างความรู้สึกเกี่ยวกับความสนับสนุนและความช่วยเหลือในชีวิตของคนเรา หรืออาศัยเสียงของธรรมชาติ อย่างเช่นเสียงนกร้องช่วยกระตุ้นความคิดให้พรั่งพรูออกมา

.

แต่ก็เป็นธรรมดาที่ทุกอย่างซึ่งมีข้อดีก็มักมีข้อด้อยตามมา เพราะคุณเลสลี่ สกาลิเอทีน นักจิตวิทยาคลินิกและเป็น eco-therapist ในรัฐแคลิฟอร์เนียเตือนว่าการจะใช้ธรรมชาติเป็นฉากหลังของการช่วยบำบัดนั้นที่ปรึกษาต้องคำนึงว่าตนมีทักษะที่จำเป็นเพียงพอหรือไม่ และทักษะที่ว่านี้ก็มีตั้งแต่ความสามารถในการปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและอยู่ห่างไกลมือหมอ ไปจนถึงทักษะในการหาทิศนำทางถ้าเกิดหลงป่าขึ้นมา รวมทั้งทักษะในการเอาชีวิตรอดหากเกิดภัยธรรมชาติอย่างไม่คาดฝันด้วย

.

ท้ายที่สุดคุณเลสลี่ สกาลิเอทีน นักจิตบำบัดผู้ได้รับการรับรองด้าน eco-therapy เตือนว่าคนเรานั้นมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไปและมีรูปแบบของการเรียนรู้ที่ต่างกันด้วย ดังนั้น eco-therapy หรือการบำบัดแบบอาศัยธรรมชาติเข้าช่วยจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคนไปแต่อาจจะใช้ได้ผลมากกว่าสำหรับคนที่เรียกว่าเป็น extrovert หรือผู้ที่ชอบปัจจัยภายนอกรอบๆ ตัวและเป็นคนที่สามารถเรียนรู้ได้ดีด้วยการสัมผัสจับต้องและมีการเคลื่อนไหวนั่นเอง

.

ที่มา : https://www.voathai.com/a/outdoor-therapy-ct/5694040.html