ทส.คาดขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นมาก จากการแพร่ COVID-19 รอบใหม่ ขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งอย่างถูกวิธี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประเมินตัวเลขปี 63 เฉลี่ย1,800 ล้านชิ้นต่อเดือนจากประชากร 60 ล้านคน

.

 วันนี้ (14 เม.ย.2564) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดมากขึ้น คาดว่า ช่วงนี้จะมีปริมาณของขยะหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งขยะหน้ากากอนามัยจัดเป็นขยะติดเชื้อ เนื่องจากผ่านการใช้งานที่มีการปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย อาจมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วย ทำให้การกำจัดขยะประเภทนี้ต้องคัดแยกขยะหน้ากากอนามัยทิ้งในภาชนะที่ปิดมิดชิด แล้วรวบรวมไว้ในถังขยะที่ระบุว่าเป็น “ถังขยะติดเชื้อ” อย่างชัดเจน เพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

.

“ห้ามทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปเด็ดขาด สิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะหน้ากากอนามัยเหล่านี้ตกค้างปนเปื้อนออกสู่สภาพแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน”

.

ขอความร่วมมือแยกทิ้ง-ห้ามปะปนขยะบ้าน
.
นายจตุพร กล่าวว่า ทั้งนี้ทส.ทำอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนเมื่อใช้หน้ากากอนามัยแล้วขอให้แยกทิ้งขยะหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ด้วยการตัดทำลาย หรือม้วนพับด้านที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าด้านใน แล้วใส่ในถุงที่ปิดมิดชิด แล้วรัดปากถุงให้แน่น พร้อมกับเขียนติดหน้าถุงว่าเป็น “ขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว” เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข สามารถแยกเก็บรวบรวมขยะหน้ากากอนามัยที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป ถือเป็นการป้องกันไม่ให้ขยะหน้ากากอนามัยเหล่านี้กลายเป็นขยะตกค้างปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ที่อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้
.
ไทยพีบีเอสออนไลน์ตรวจสอบ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า จากที่คาดการณ์กันว่า แต่ละเดือน อาจจะมีปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้วถึง 1,800 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่คิดจากประชากร 60 ล้านคนใช้งานคนละ 1 ชิ้นต่อวันหลายพื้นที่ทั่วโลก เริ่มมีขยะหน้ากากอนามัยทิ้งตามสาธารณะ หรือกระทั่งในแหล่งน้ำ
.
หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ถือเป็น “ขยะติดเชื้อ” เนื่องจากหลังการใช้งาน ทุกชิ้นจะปนเปื้อนสารคัดหลั่งในร่างกาย อาจจะมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วย การทิ้ง การจัดเก็บ และการทำลาย ต้องใช้ขั้นตอนเดียวกับการจัดเก็บขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข
.
สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัย ขยะมูลฝอย ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เป็นอย่างไร ของศิริพร คาวานิล ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน นักศึกษาในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.นเรศวร ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2563 ระบุว่า ขยะที่ปนเปื้อนน้้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้า กากอนามัยหรือหน้ากากผ้า กระดาษ ทิชชู ให้เก็บรวบรวม และ ทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น และทำลายเชื้อโดยการราด ด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์ แล้วมัดปากถุงให้แน่น สำหรับการกำจัดขยะหน้า กากอนามัยและหน้ากากผ้าให้การกำจัด เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545
.

ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/303322