ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำลังร่างแผนเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีจุดเริ่มต้นอย่างไรนั้น มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่เห็นว่าองค์การระดับโลกแห่งนี้ไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

โดยเมื่อเดือนมีนาคม การศึกษาขั้นแรกของคณะทำงานร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกกับรัฐบาลจีนในประเด็นที่ว่าเชื้อโควิด-19 เริ่มต้นมาอย่างไรได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าไวรัสดังกล่าวน่าจะกระโดดข้ามสายพันธุ์จากสัตว์บางชนิดสู่คน และทฤษฎีเรื่องเชื้อไวรัสที่รั่วไหลออกจากห้องปฏิบัติการทดลองนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้
.
โดยคาดว่าขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการติดเชื้อในมนุษย์ในช่วงต้นๆ หรือการหาคำตอบเรื่องสัตว์ตัวกลาง
.
อย่างไรก็ตาม การทำงานของคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกในประเทศจีนในขั้นแรกดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนก่อนทั้งในแง่การเดินทางของเจ้าหน้าที่ กำหนดการตรวจสอบ รวมทั้งรายงานที่จะเผยแพร่ด้วย
.
และนาย Richard Ebright ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวะโมเลกุลที่มหาวิทยาลัย Rutgers ของสหรัฐฯ บอกว่าการทำงานในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องตลกไร้สาระและว่าการหาคำตอบอย่างแท้จริงว่าเชื้อโควิด-19 กระโดดจากสัตว์เข้าสู่มนุษย์ได้อย่างไรหรือหลุดออกจากห้องทดลองจริงหรือไม่นั้นไม่ใช่คำถามทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างเดียว เพราะมีแง่มุมด้านการเมืองซึ่งองค์การอนามัยโลกไม่มีความสามารถจะให้คำตอบได้
.
ในช่วงหลังนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนซึ่งบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับองค์การอนามัยโลกด้วยที่กล่าวว่าความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหวังให้องค์การอนามัยโลกค้นหาคำตอบที่น่าเชื่อถือ
.
และว่าสิ่งที่โลกต้องการขณะนี้คือการวิเคราะห์อย่างเป็นอิสระที่คล้ายกับการทำงานของคณะกรรมการระหว่างประเทศหลังอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เมืองเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 และเมื่อต้นเดือนนี้นายแพทย์ Michael Ryan ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกเองก็ยอมรับว่าองค์การอนามัยโลกไม่มีอำนาจพอที่จะบังคับให้จีนต้องร่วมมือในเรื่องใด
.
ในช่วงหลังนี้แนวคิดที่ว่าเชื้อโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องทดลองและอาจเป็นไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นด้วยนั้นได้รับความสนใจมากขึ้นโดยประธานาธิบดีไบเดนได้สั่งให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ประเมินและหาคำตอบเรื่องนี้ภายในเวลา 90 วัน
.
ส่วนนาย Lawrence Gostin ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านกฎหมายสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัย Georgetown ในกรุงวอชิงตันก็ชี้ว่าเราคงไม่พบคำตอบเรื่องที่มาของไวรัสนี้หากหวังพึ่งพาการทำงานขององค์การอนามัยโลกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้พยายามขัดขวางการหาคำตอบเรื่องนี้
.
และว่าสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ควรพยายามหาข้อสรุปจากการประมวลข่าวกรองที่มีอยู่หรือทบทวนกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้อำนาจแก่องค์การอนามัยโลกมากขึ้น หรืออาจตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง
.
เมื่อปี 2012 เคยมีรายงานการระบาดของเชื้อซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเหมืองแห่งหนึ่งที่เมืองโมเจียงของจีนโดยมีคนงานเหมืองหกคนล้มป่วยด้วยโรคปอดอักเสบที่เชื่อว่าติดมาจากค้างคาว
.
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ปิดเหมืองนี้และยึดตัวอย่างต่างๆ จากนักวิทยาศาสตร์ มีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนรวมถึงมีคำสั่งจำกัดการเผยแพร่ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 และกำหนดให้ผลงานการศึกษาทุกชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องได้รับการทบทวนและอนุมัติจากส่วนกลางด้วย ตามรายงานของเอพี
.
อย่างไรก็ตามอาจารย์ Jeffrey Sachs จากมหาวิทยาลัย Columbia ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าสหรัฐฯ เองก็ควรเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการทำงานของนักวิทยา วิทยาศาสตร์อเมริกันด้วยเช่นกัน
.
และว่าอเมริกาเองก็อาจมีส่วนร่วมรู้เห็นพอๆ กับจีนเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากอยู่กับการวิจัยที่ห้องปฏิบัติการในเมืองอู่ฮั่นของจีน และว่าหากปรากฏว่าการวิจัยเรื่องไวรัสซึ่งสหรัฐฯ ให้เงินทุนสนับสนุนอยู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่นี้ก็จะเท่ากับว่าทั้งสหรัฐฯ กับจีนมีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นนั่นเอง
.
ที่มา : VAO Thai https://www.voathai.com/a/who-covid-investigation-ct/5953394.html