นักวิจัยชาวญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการผลิตลูกหนูที่มีสุขภาพดีจากสเปิร์มแช่แข็งซึ่งถูกเก็บไว้ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี

สเปิร์มดังกล่าวถูกทำให้แห้งแบบเยือกแข็งและส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2013 การทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็งนั้นเป็นกระบวนการที่นำน้ำออกจากสารแช่แข็งเพื่อทำให้ของสิ่งนั้นสามารถอยู่ได้เป็นเวลานาน
.
เมื่อสเปิร์มถูกนำกลับมายังโลกและทำให้หายเยือกแข็ง ก็สามารถให้กำเนิดลูกหนูที่แข็งแรง 168 ตัว นักวิจัยกล่าวว่า มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยระหว่างหนูที่เกิดมาโดยสเปิร์มอวกาศกับหนูที่เกิดจากสเปิร์มปกติบนโลก
.
เทรุฮิโกะ วาคายามะ นักชีววิทยาด้านพัฒนาการที่มหาวิทยาลัยยามานาชิของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหัวหน้าในการเขียนรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science Advances บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสเกี่ยวกับการทดลองครั้งนี้ว่า “ลูกหนูทุกตัวมีลักษณะปกติ” และเมื่อนักวิจัยตรวจสอบยีนของหนูก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ
.
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ส่งภาชนะบรรจุ 3 กล่องที่มีตัวอย่างเชื้ออสุจิแห้งเยือกแข็ง 48 ตัวอย่างไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี 2013 การทำให้แห้งแบบเยือกแข็งช่วยให้สารต่างๆ สามารถอยู่รอดได้ที่อุณหภูมิห้องนานถึงหนึ่งปีก่อนการส่ง ส่วนบนสถานีอวกาศนานาชาติ ตัวอย่างดังกล่าวได้ถูกเก็บไว้ในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิ - 95 องศาเซลเซียส
.
หลังจากนั้น ตัวอย่างทั้งหมดถูกส่งกลับมายังโลกในเวลาที่แตกต่างกัน โดยชุดแรกถูกส่งกลับมาหลังจากที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาตินานเก้าเดือน ชุดที่สองถูกส่งกลับมาหลังจากสองปี และเมื่อชุดสุดท้ายถูกส่งกลับมายังโลกในเดือนมิถุนายนปี 2019 ตัวอย่างชุดนี้ได้ใช้เวลาอยู่ในอวกาศถึง 5 ปี 10 เดือน ทั้งนี้ ตัวอย่างดังกล่าวได้ถูกฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ของหนูตัวเมีย และนำไปฝังไว้ในรังไข่ของแม่หนู
.
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาว่าการได้รับรังสีเป็นเวลานานในอวกาศจะทำลาย DNA ในเซลล์สืบพันธุ์หรือทำให้ทารกมีการกลายพันธุ์หรือไม่ เรื่องเดียวกันนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ในอนาคต หากการสำรวจอวกาศขยายออกไปอย่างมาก และเป็นผลให้มีประชากรจำนวนมากต้องอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ
.
ทั้งนี้ ห้วงอวกาศนั้นเต็มไปด้วยรังสีระดับสูงที่เกิดจากอนุภาคสุริยะและรังสีคอสมิกจากนอกระบบสุริยะของเรา
.
นักวิจัยกล่าวว่าเซลล์สเปิร์มที่ถูกเก็บบนอวกาศต้องเจอกับระดับรังสีมากกว่าสเปิร์มที่เก็บอยู่บนพื้นโลกถึง 170 เท่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแผ่รังสีในอวกาศก็ไม่ได้ทำลาย DNA ของสเปิร์มหรือลดความสามารถในการปฏิสนธิเลย เมื่อเทียบกับสเปิร์มที่เก็บไว้บนโลก
.
วาคายามะ เขียนบทความเกี่ยวกับการทดลองนี้ว่า “ในอนาคต เมื่อถึงเวลาต้องอพยพไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น เราจำเป็นจะต้องรักษาแหล่งทรัพยากรของความหลากหลายทางพันธุกรรม” และว่าเราสามารถปกป้องความหลากหลายดังกล่าวทั้งในมนุษย์และสัตว์จากอันตรายของการกลายพันธุ์ที่มักเกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ภายในกลุ่มหรือพวกเดียวกัน
.
วาคายามะกล่าวอีกว่าการลำเลียงเซลล์สืบพันธุ์แบบแห้งที่แช่เยือกแข็งจำนวนมาก จะง่ายกว่าและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการขนส่งคนหรือสัตว์ที่มีชีวิตไปในอวกาศ และวิธีนี้จะช่วยพัฒนาโอกาสการสร้างอาณานิคมในอวกาศซึ่งรวมถึงการมีสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ด้วย
.
นักวิจัยกล่าวด้วยว่าผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการเก็บสเปิร์มแบบแห้งเยือกแข็งในอวกาศนั้นอาจสามารถทำได้นานถึง 200 ปี
.
ที่มา : VAO Thai https://www.voathai.com/a/mouse-sperm-stored-in-space/5954752.html