โควิด-19: สธ. เผยพบคนไทยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา-อัลฟาในคนเดียว 7 รายจากแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยพบการติดเชื้อผสม 2 สายพันธุ์ในผู้ป่วยคนเดียวจำนวน 7 ราย จากการตรวจหาเชื้อคนงาน 200 คน ในแคมป์ก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

.
นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยในการแถลงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 วันนี้ (12 ก.ค.) ว่ากรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าจับตาและลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยทั้ง 7 ราย ยังอาการยังเป็นปกติอยู่ในขณะนี้
.
นพ. ศุภกิจกล่าวว่า จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมเชื้อที่พบในผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่าตรงกับเชื้อสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา
.
"มันเป็นสัญญาณว่า ถ้าเราปล่อยให้มี mixed infection (ติดเชื้อผสม) แบบนี้บ่อย ๆ เยอะ ๆ มันก็อาจจะเกิดลูกผสมที่เราเรียกว่า hybrid เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้" นพ.ศุภกิจกล่าว
.

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งเเต่ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-9 ก.ค. ได้ตรวจสายพันธุ์โควิด-19 ไปเเล้ว 15,210 ตัวอย่าง โดยประมาณ ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 74% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 24% และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 1.7%
.
แต่หากดูเฉพาะสัปดาห์ที่แล้ว (3-9 ก.ค.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มมาเป็น 57% ส่วนในภูมิภาค 23% และภาพรวมทั้งประเทศพบสายพันธุ์อัลฟา 51.8% เดลตา 46.1% และเบตา 2.1% จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์ของไวรัส
.
"ภาพรวมทั้งประเทศ เป็นสายพันธุ์เดลตาประมาณ 46% เกือบครึ่งแล้วนะครับ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
.
โดยพบแล้วในกรุงเทพฯ และอีก 60 จังหวัด เป็นที่น่าสังเกตว่าภาคใต้ก็พบก็เริ่มพบการระบาดของสายพันธุ์นี้ ทั้งสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นราธิวาส ตรัง พัทลุง และสตูล
.
นอกจากสายพันธุ์เดลตาในกรุงเทพฯ ยังพบผู้ติดเชื้ออีกจำนวนหนึ่งใน จ.อุดรธานี คือ 41 ราย รองลงมาคือ นครสวรรค์ 43 ราย ชลบุรี 32 ราย กำแพงเพชร 14 ราย เป็นต้น ส่วนสายพันธุ์เบตานั้น ยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคใต้ กว่า 84 ราย
.

"เราคาดการณ์ว่า (สายพันธุ์เดลตา) อีกไม่นานนะครับ ก็คงจะครองพื้นสายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด"

.

นอกจากนี้ ยังประเด็นที่น่าสนใจ คือ การพบผู้ป่วยรายหนึ่งใน จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นคนงานกลับมาจากประเทศไต้หวัน ซึ่งขณะกักตัวในสถานที่กักกันแต่ไม่พบเชื้อจากการตรวจหลายครั้ง แต่เมื่อกลับบ้านไปกลับพบติดเชื้อสายพันธุ์เบตา ซึ่งจากการถอดรหัสพันธุกรรมไม่พบว่าตรงกับรหัสที่พบในไต้หวัน รวมถึงภาคใต้ของไทยด้วย ซึ่งต้องสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป

.

ที่มา : BBC Thai bbc.com/thai/thailand-57805425