ย้อนไปเมื่อปี 1642 อาเบล ทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์มากประสบการณ์ ออกเดินทางไปในซีกโลกใต้เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่าต้องมีทวีปขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบ ในช่วงนั้น ภูมิภาคแถบนี้ยังเป็นสิ่งลึกลับสำหรับชาวยุโรป แต่ก็เชื่อกันอย่างปักใจว่าต้องมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลอยู่ และก็ได้ตั้งชื่อไว้ก่อนแล้วว่า เทอร์รา ออสเตรลิส (Terra Australis)

.
วันที่ 14 ส.ค. เขาออกเดินเรือจากฐานที่ตั้งของบริษัทที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ไปได้ไกลสุดแค่เกาะนิวซีแลนด์ และเกิดการปะทะต่อสู้กับชาวชนเผ่าเมารี เป็นเหตุให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไป 4 ราย
.
นั่นเป็นจุดจบของการเดินทางในครั้งนั้น และเขาไม่ได้แม้แต่ลงไปเหยียบบนเกาะนิวซีแลนด์
.
และก็ไม่รู้ตัวเลยว่าจริง ๆ แล้ว ทวีปลึกลับที่ว่ามีอยู่จริง
.
หลายร้อยปีผ่านไป ในปี 2017 เกิดเป็นข่าวใหญ่หลังกลุ่มนักธรณีวิทยากลุ่มหนึ่งประกาศว่า พวกเขาได้ค้นพบซีแลนเดีย ทวีปขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่ 4.9 ล้าน ตร.กม. หรือใหญ่กว่าเกาะมาดากัสการ์ถึง 6 เท่า
.
แม้ว่าสารานุกรม แผนที่ หรือผลการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จะยืนยันว่าโลกเรามีแค่ 7 ทวีป ทีมผู้เชี่ยวชาญนี้เชื่อว่านั่นไม่จริง จริง ๆ แล้วโลกเรามี 8 ทวีป และทวีปน้องใหม่นี้ก็ทำลายทุกสถิติ เป็นทวีปที่เล็กที่สุด บางที่สุด และมีอายุน้อยที่สุด
.

อาเบล ทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์มากประสบการณ์

.

ปัญหาคือ 94% ของทวีปนี้จมอยู่ใต้มหาสมุทร มีเกาะไม่กี่แห่งเท่านั้น อาทิ นิวซีแลนด์ ที่โผล่จากน้ำขึ้นมา
.
"นี่เป็นตัวอย่างของบางสิ่งบางอย่างที่ดูเหมือนจะชัดเจนแต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะค้นพบ" แอนดี ทัลลอค นักธรณีวิทยาจากสถาบันวิจัย จีเอ็นเอส ไซแอนส์ ของนิวซีแลนด์ (New Zealand Crown Research Institute GNS Science) ผู้เป็นสมาชิกทีมซึ่งค้นพบทวีปนี้เมื่อปี 2017
.
แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น สี่ปีผ่านไป ทวีปน้องใหม่นี้ก็ยังลึกลับเหมือนเดิมด้วยความที่อยู่ใต้น้ำลึก 2 กิโลเมตร ทวีปนี้ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งมีชีวิตประเภทไหนเคยอาศัยอยู่ และมันจมอยู่ใต้น้ำลึกมานานเท่าไรแล้ว
.
การค้นพบที่ใช้เวลาแสนยาวนาน

นอกจากนิวซีแลนด์แล้ว ซีแลนด์เดียยังครอบคลุมเกาะนิวแคลิโดเนียของฝรั่งเศส และเกาะลอร์ด ฮาว ไอส์แลนด์และเกาะบอลส์พีระมิด ของออสเตรเลีย ด้วย

คำบอกใบ้แรกว่าทวีปซีแลนเดียมีอยู่จริงมาจากนักธรรมชาติวิทยาชาวสกอตแลนด์ เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ เขาเข้าร่วมการเดินเรือสำรวจเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไปจากชายฝั่งทางใต้ของเกาะนิวซีแลนด์ในปี 1985
.
หลังจากศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของเกาะต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เขาสรุปว่า นิวซีแลนด์ "เป็นสิ่งที่หลงเหลือของเทือกเขาที่ก่อตัวเป็นยอดของบริเวณทวีปขนาดใหญ่ที่เหยียดยาวจากทิศใต้ไปจนถึงทิศตะวันออก ซึ่งตอนนี้จมน้ำอยู่..."
.
แม้ว่าจะรู้เช่นนี้แล้ว ความรู้ที่มีต่อซีแลนเดียก็ยังน้อยนิดอยู่จนกระทั่งทศวรรษ 1960 ซึ่งนักธรณีวิทยาตกลงกันได้ในที่สุดว่านิยามของคำว่า "ทวีป" คืออะไร
.
โดยความหมายกว้าง ๆ แล้ว ทวีปคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีการยกตัวสูงขึ้น มีหินหลากหลายชนิด และมีเปลือกพื้นทวีปที่หนา และนอกจากนี้ก็ต้องมีขนาดใหญ่ด้วย
.
นี่เป็นเกณฑ์สำหรับนักธรณีวิทยา หากพวกเขารวบรวมหลักฐานได้ก็จะพิสูจน์ได้ว่าทวีปที่ 8 ของโลกมีอยู่จริง
.

อย่างไรก็ดี การสำรวจทวีปใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะทั้งยากเย็นและต้องใช้งบประมาณเยอะ และ นิค มอร์ติเมอร์ นักธรณีวิทยาที่สถาบันวิจัย จีเอ็นเอส ไซแอนส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสำรวจในครั้งนั้น บอกว่า ในตอนนั้น ไม่มีความรู้สึกรีบเร่งที่จะต้องสำรวจเรื่องนี้ด้วย
.
จนกระทั่งในปี 1995 นักธรณีฟิสิกส์ชาวอเมริกัน บรูซ ลูเยนดิค ออกมาย้ำอีกครั้งว่าบริเวณดังกล่าวถือเป็นทวีป และก็เรียกมันว่า ซีแลนเดีย หลังจากนั้น ทัลลอค บอกว่ากระบวนการสำรวจก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
.
และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยบอกว่า ประเทศต่าง ๆ สามารถขยายพื้นที่ของตัวเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เลยไปจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กม. จากชายฝั่งประเทศ) ซึ่งจะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ
.

ภาพถ่ายทางอวกาศของนิวซีแลนด์ ถ่ายโดยนักบินอวกาศทิม พีค

หากนิวซีแลนด์สามารถพิสูจน์ได้ว่าประเทศเป็นส่วนหนึ่งของทวีปที่ใหญ่กว่า พวกเขาก็อาจสามารถขยายอาณาเขตตัวเองออกไปได้ถึง 6 เท่าตัว
.
และเมื่อมีเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ก็สามารถมองเห็นได้ว่าซีแลนเดียเป็นผืนแผ่นดินรูปร่างแปลกที่ขนาดใหญ่เกือบเท่าออสเตรเลีย
.
"ลองคิดดูแล้วมันเจ๋งดีนะ" มอร์ติเมอร์ กล่าว "ทุกทวีปมีประเทศต่าง ๆ ตั้งอยู่แล้ว แต่บนซีแลนเดียมีแค่ดินแดน 3 แห่งเท่านั้น"
.
นอกจากนิวซีแลนแล้ว ซีแลนด์เดียยังครอบคลุมเกาะนิวแคลิโดเนียของฝรั่งเศส และเกาะลอร์ด ฮาว ไอส์แลนด์และเกาะบอลส์พีระมิด ของออสเตรเลีย ด้วย
.
ในอดีต ซีแลนเดีย เป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่หรือมหาทวีป (supercontinent) โบราณที่ชื่อ กอนด์วานา (Gondwana) ซึ่งก่อตัวเมื่อราว 550 ล้านปีที่แล้ว และรวมแผ่นดินผืนต่าง ๆ ในซีกโลกใต้เข้าไว้ด้วยกัน
.
จากนั้นเมื่อ 105 ล้านปีที่แล้ว ทัลลอคบอกว่า "ด้วยกระบวนการที่ตอนนี้เราก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด ซีแลนเดียก็เริ่มถูกดึงแยกอกไป"
.
โดยทั่วไป เปลือกภาคพื้นทวีปจะหนาราว 40 กิโลเมตร ส่วนเปลือกพื้นมหาสมุทรจะหนาราว 10 กิโลเมตร ส่วนซีแลนเดียถูกดึงและยืดจนเปลือกของภาคพื้นทวีปตอนนี้หนาแค่ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดทวีปที่บางแห่งนี้ก็จมหายลงไปในมหาสมุทร แต่ก็ไม่ได้ลึกลงไปเท่าระดับของเปลือกพื้นมหาสมุทร
.
แม้จะบางและจมอยู่ใต้น้ำ นักธรณีวิทยารู้ว่าซีแลนเดียถือเป็นทวีปเพราะหินชนิดต่าง ๆ ที่พบ เปลือกภาคพื้นทวีปมักจะประกอบไปด้วยหินอย่างแกรไนต์ หินชีสต์ และหินปูน ส่วนพื้นมหาสมุทรจะเป็นหินอัคนีอย่างหินบะซอลต์
.
แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังคงลึกลับสำหรับนักธรณีวิทยา ยกตัวอย่างเช่นว่า ทำไมซีแลนเดียถึงยังเกาะตัวเป็นผืนเดียวกันได้ ไม่แตกตัวกลายเป็นทวีปเล็ก ๆ แยกย่อย ทั้ง ๆ ที่พื้นทวีปบางมาก อีกปริศนาหนึ่งก็คือเหตุใดมันถึงจมไปอยู่ใต้น้ำ
.
ทัลลอคบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญแบ่งความคิดเห็นเป็นฝักฝ่าย บ้างมองว่ามันจมน้ำมาตลอดยกเว้นเกาะบางแห่ง บ้างมองว่ากาลครั้งหนึ่ง มันเคยเป็นแผ่นดินที่อยู่พ้นน้ำทั้งผืน
.
นี่นำไปสู่คำถามต่อไปว่า มีสิ่งมีชีวิตประเภทใดเคยอาศัยอยู่บนทวีปแห่งนี้
.
มหาทวีปกอนด์วานาซึ่งกว้าง 101 ตร.กม. เคยเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกสี่ขาและในเวลาต่อมาของไดโนเสาร์ไททันโนซอรัสด้วย
.
เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ไหมว่าซีแลนเดียจะมีซากของไดโนเสาร์ฝังอยู่
.
ข้อถกเถียงเรื่องไดโนเสาร์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านกกีวี มีต้นสายพันธุ์เดียวกันกับนกช้างยักษ์ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์จนกระทั่ง 800 ปีที่แล้ว

ซากฟอสซิลของสัตว์บกหาได้ยากในซีกโลกใต้ แต่ก็มีการพบซากดังกล่าวของสัตว์หลายชนิดในนิวซีแลนด์เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ได้แก่ กระดูกซี่โครงของไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีหางและคอยาว ไดโนเสาร์ฮิปซิโลโฟดอนซึ่งปากเป็นจะงอยและกินพืชเป็นอาหาร รวมถึงไดโนเสาร์แองคีโลซอรัส
.
จากนั้นในปี 2006 ก็มีการพบกระดูกเท้าของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นไดโนเสาร์อัลโลซอรัส ที่หมู่เกาะแชทัม ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ประมาณ 800 กิโลเมตร
.
สิ่งที่น่าสังเกตคือ ซากฟอสซิลต่าง ๆ ที่ค้นพบล้วนมาจากยุคที่ซีแลนเดียแยกตัวออกจากกอนด์วานาแล้ว
.
การค้นพบข้อหนึ่งที่ชี้ว่าซีแลนเดียอาจจะเคยอยู่พ้นน้ำมาตลอดคือ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านกกีวี สัตว์มีขนที่บินไม่ได้ซึ่งเป็นที่รักของชาวนิวซีแลนด์ มีต้นสายพันธุ์เดียวกันกับนกช้างยักษ์ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์จนกระทั่ง 800 ปีที่แล้ว และก็ทำให้เชื่อว่าสัตว์ทั้งสองชนิดมีต้นสายพันธุ์จากสัตว์ชนิดเดียวกันที่เคยอาศัยอยู่บนมหาทวีปกอนด์วานา
.
มหาทวีปดังกล่าวใช้เวลา 130 ปี กว่าจะแยกและกระจัดกระจายไปทั่วโลก กลายเป็นทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา มาดากัสการ์ แอนตาร์กติกา ออสเตรเลีย คาบสมุทรอาหรับ อนุทวีปอินเดีย และก็ซีแลนเดีย
.
นี่จึงชี้ว่าอย่างน้อยที่สุด ก็ต้องมีบางส่วนของซีแลนเดียที่จมอยู่ใต้น้ำตอนนี้เคยอยู่พ้นน้ำมาโดยตลอด
.
แต่ราว 25 ล้านปีที่แล้ว เชื่อกันว่าทั้งทวีปนี้ รวมถึงนิวซีแลนด์ด้วย จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด รูเพิร์ต ซัธเทอร์แลนด์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์และการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งเวลลิงตัน บอกว่า เชื่อกันว่าสัตว์และพืชชนิดต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ เข้ามาอยู่อาศัยหลังจากนั้น
.
เมื่อปี 2017 ทีมผู้เชี่ยวชาญทำการสำรวจแบบครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยทำมา โดยเจาะลงไป 1,250 เมตร ใต้ก้นทะเลลึกของทวีปซีแลนเดีย โดยสำรวจไป 6 บริเวณด้วยกัน แล้วก็พบทั้งเกสรของพืชบนบก แล้วก็สปอร์และเปลือกของสิ่งมีชีวิตประเภทที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำอุ่นและตื้น
.
ซัธเทอร์แลนด์ บอกว่าเกสรหรือสปอร์ ชี้ให้เห็นว่าเป็นไปได้ว่าซีแลนเดียอาจจะไม่ได้จมอยู่ใต้น้ำมาตลอดอย่างที่คิด
.
ซัธเทอร์แลนด์ บอกอีกว่า คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะรู้ถึงความลับทั้งหมดเกี่ยวกับทวีปนี้
.
"มันยากที่จะค้นพบอะไรเมื่อทุกอย่างอยู่ลึกถึง 2 กิโลเมตรใต้น้ำ และชั้นที่ต้องเก็บตัวอย่างก็อยู่ลึกจากก้นทะเลไปอีก 500 เมตร" ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งเวลลิงตันผู้นี้กล่าว โดยบอกว่าเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องใช้ทั้งเวลา เงิน และความพยายาม
.
เกือบ 400 ปีผ่านไป หลังความพยายามของทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์ ทวีปที่ 8 ของโลกนี้ก็ยังลึกลับอยู่แทบไม่เปลี่ยนแปลง
.

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-57948356