องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกเพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละราว 18 ล้านคน แต่ข่าวดีก็คือนักวิจัยได้พบวิธีบำบัดผู้มีอาการหัวใจวายหรือ heart attack ซึ่งเป็นผลจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดโลหิตหล่อเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน

.
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Queensland ในออสเตรเลีย รายงานในวารสาร Circulation เรื่องการพบว่าพิษของแมงมุมพื้นเมืองพันธ์ุหนึ่งที่เรียกว่า funnel-web spider บนเกาะ Fraser Island ทางตะวันออกของประเทศ มีโมเลกุลของกรดอะมิโนซึ่งอาจช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน เพราะโมเลกุลของกรดอะมิโนนี้จะช่วยยับยั้ง “สัญญาณแห่งความตาย” ที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจส่งออกมาเมื่อผู้ป่วยมีอาการหัวใจวายและจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
.
แมงมุมพันธ์ุพื้นเมืองของออสเตรเลียที่ว่านี้มีวิวัฒนาการมานานถึง 400 ล้านปีแล้ว และมีพิษซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยประกอบด้วยโมเลกุลต่าง ๆ ถึงราว 300 ชนิด และโมเลกุลหรือสารเคมี peptide ซึ่งนักวิจัยออสเตรเลียได้พบนี้เรียกว่า Hi1a ซึ่งจะช่วยสกัด “สัญญาณแห่งความตาย” ที่ว่านี้ได้
.
โดยปกติแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการหัวใจขาดโลหิตหล่อเลี้ยงอย่างเฉียบพลันหรือที่เรียกว่าหัวใจวายนั้น ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจนจากเลือดจะทำให้เซลล์มีสภาพเป็นกรดและจากภาวะเช่นนี้เซลล์ก็จะสื่อหรือส่ง “สัญญาณแห่งความตาย” ทำให้เซลล์อื่นๆ ของหัวใจหยุดทำงานไปด้วย
.
จากการวิจัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาวงการแพทย์ยังไม่สามารถพัฒนายาตัวใดเพื่อช่วยสกัดกั้น ”สัญญาณแห่งความตาย” ลักษณะนี้ได้ ดังนั้นข่าวเรื่องพิษจากแมงมุมพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียที่จะช่วยสกัดการส่งสัญญาณดังกล่าวจึงนับเป็นข่าวดี
.
และแพทย์หญิงซารา ชาวเออร์ หนึ่งในคณะนักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า สารเคมี peptide จากพิษของแมงมุมออสเตรเลียชนิดนี้ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจด้วย และเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาโมเลกุลของ Hi1a เพื่อใช้สำหรับคนไข้ฉุกเฉินโดยเจ้าหน้าที่การแพทย์ในรถพยาบาล
.
นักวิจัยของออสเตรเลียตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มทดลองใช้โมเลกุลของสารโปรตีนจากพิษของแมงมุมนี้ในคนไข้จริงภายในสองถึงสามปีต่อจากนี้ด้วย
.
(ที่มา: VOA Thai https://www.voathai.com/a/spider-venom-saving-heart-attack-ct/5974827.html)