อากาศร้อนได้คร่าชีวิตผู้คนปีละหลายร้อยคน องค์การอนามัยโลกประเมินว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 จนถึงปี 2017 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 166,000 รายอันเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 รายในช่วงที่คลื่นความร้อนปกคลุมยุโรปในปี ค.ศ. 2003

.
แต่ถึงกระนั้น การเสียชีวิตและอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนก็สามารถป้องกันได้ มีขั้นตอนต่าง ๆ มากมายที่ทำได้เพื่อความปลอดภัยในช่วงที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ
.
ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำให้ร่างกายเย็นลงในช่วงที่อากาศร้อนจัด ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความชื้นสูง เหงื่อจะแห้งช้า ซึ่งจำกัดความสามารถของร่างกายในการปลดปล่อยความร้อน ดังนั้น นอกจากจะใส่ใจในเรื่องของอุณหภูมิแล้ว ยังต้องใส่ใจในเรื่องของระดับความชื้นอีกด้วย
.
นอกจากนี้ ให้สังเกตอุณหภูมิในเวลากลางคืน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคลื่นความร้อนมักเป็นอันตรายเมื่ออุณหภูมิในเวลากลางคืนลดลงเพียงเล็กน้อยจากระดับอุณหภูมิสูงสุดในเวลากลางวัน ร่างกายของคนเราจะซ่อมแซมตัวเองตอนกลางคืนในเวลาที่นอนหลับ ดังนั้น อุณหภูมิในตอนกลางคืนที่ร้อนจัดจึงสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อร่างกายมนุษย์
.
อาหารและยาบางชนิดก็อาจส่งผลต่ออุณหภูมิของร่างกายได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำตาล จะทำให้ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายอ่อนแอลง
.
ในเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหรือ CDC อธิบายว่า คนบางคนมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน โดยอายุและน้ำหนักก็เป็นปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ กล่าวคือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและอายุต่ำกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความร้อนมากกว่าคนกลุ่มอื่น
.
สุขภาพโดยทั่วไปก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน CDC ระบุว่าการเจ็บป่วยในระยะยาว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และอาการป่วยทางจิต อาจทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
.
ในเว็บไซต์ของ CDC ได้ระบุอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนประเภทต่าง ๆ เช่น อาการผื่นคันจากความร้อน ผิวไหม้จากแดด ตะคริวจากความร้อน อ่อนเพลีย และโรคลมแดดที่ร้ายแรงที่สุด และอธิบายถึงข้อควรระวัง รวมถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติด้วย
.
อาการที่แสดงถึงความอ่อนเพลียจากความร้อนมีมากมาย รวมไปถึงการที่มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็นชื้นและซีดกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็วและช้าสลับกัน รู้สึกมวนท้องหรือคลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริว รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนแรง มีอาการวิงหรือปวดเวียนศีรษะ หรืออาจถึงขั้นหมดสติได้
.
ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรเปลี่ยนไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น คลายเสื้อผ้าให้หลวม เอาผ้าเปียกเย็น ๆ คลุมร่างกาย หรืออาบน้ำเย็นและดื่มน้ำ หากเริ่มอาเจียน หรืออาการแย่ลงหรือมีอาการนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ควรไปพบแพทย์
.
ทั้งนี้ CDC เรียกอาการของโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินจากความร้อน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อาการของโรคลมแดดได้แก่ การที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผิวหนังร้อน แดง แห้ง และชื้น หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการวิงเวียน หรือปวดศีรษะ คลื่นไส้ สับสน และหมดสติ
.
ผู้เชี่ยวชาญของ CDC แนะนำขั้นตอนปฏิบัติเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เมื่ออากาศร้อนจัด ไว้ดังนี้
.
สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ สีอ่อน ๆ และใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปกป้องผิวจากการถูกแดดเผา
วางแผนกิจกรรมกลางแจ้งอย่างระมัดระวัง ไม่ควรอยู่กลางแดดนานเกินไป
.
แช่น้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
.
คอยสอดส่องดูแลเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
.
ไม่ควรใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความร้อนเช่นเตา และเตาอบในการปรุงอาหาร เพราะจะทำให้ทั้งคนและบ้านร้อนยิ่งขึ้น
.
( ที่มา: VOA Learning English https://www.voathai.com/a/how-to-stay-safe-in-hot-weather/5966514.html )