นวัตกรรมการคาดการณ์คุณภาพอากาศ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) จากศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ThaiSC พัฒนาการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เฉพาะทางด้านมลพิษทางอากาศ (WRF-chem) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า ช่วยรองรับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ล่วงหน้า 3 วัน

10 กันยายน 2564 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมลงนามกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคาดการณ์คุณภาพอากาศ และระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง นับเป็นการผนึกกำลังด้านบุคลากรและเครื่องมือเครื่องใช้

.

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า คพ. ได้พัฒนาระบบการคาดการณ์คุณภาพอากาศ สำหรับใช้ประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ และพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยรับการสนับสนุนการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงจากสำนักงานพัฒนาพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำให้การคาดการณ์สถานการณ์ปัญหา PM2.5 ของประเทศ มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจ และวางแผนบริหารจัดการเพื่อตอบโต้สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว เพื่อการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และได้นำข้อมูลเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com พร้อมสื่อออนไลน์ของทาง คพ. เพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศให้กับประชาชน
.

ด้าน ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ. สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์บนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่ง สวทช. มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center) หรือ ThaiSC ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สวทช. ที่มีภารกิจหลักตามพันธกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยทำให้คณะทำงานด้านการประมวลผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กของ คพ. สามารถประมวลผลระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า จากเดิมใช้เวลาคำนวณ 11.5 ชั่วโมง ลดลงเหลือเพียง 45 นาที ทำให้ คพ.คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ล่วงหน้าถึง 3 วัน
.
ภายใต้ความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปีแรกนับจากนี้ สวทช. มุ่งหวังว่าจะสามารถการสนับสนุนการใช้งานและการให้คำแนะนำปรึกษาเชิงเทคนิค สำหรับการประมวลผลบนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เพื่อสนับสนุนให้ทาง คพ.สามารถพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศ รวมถึงสามารถคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศ อื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารและจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

.

ที่มา : MGR Online https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000090146