สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 7 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝง คาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ถือว่าสภาพ..ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ WHO

ขณะที่ผู้ว่า กทม.มั่นใจ ว่า 9 ปีข้างหน้านี้ โครงการ Green Bangkok 2030 จะขยายผลจนทำให้คนกรุงมีพื้นที่สีเขียว ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโลก คือ ขนาด 9 ตรว./คน

‘พื้นที่สีเขียว’ อีกสิ่งสำคัญของคนกรุงที่ยังขาด
การเจริญเติบโตที่ไม่หยุดยั้งทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ส่งผลให้เมืองหลวงและเมืองสำคัญๆ หลายประเทศมีที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ถนนหนทาง และรางรถไฟฟ้า ตอบรับการพัฒนาดังกล่าวมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพียงด้านเดียว หลายๆ ประเทศยังให้ความสำคัญกับ “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การพักผ่อน การออกกำลังกาย 

.

กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกันกำลังเจริญรอยตามเมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังขาดเพียงอย่างเดียวคือ “พื้นที่สีเขียว” ที่ยังน้อย แม้กระทั่งทางกรุงเทพมหานคร หน่วยงานดูแลก็ยอมรับ และตั้งเป้าว่าจะขยายพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานโลก คือ 9 ตารางเมตร/คน

.

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,568.737 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์กว่า 6 ล้านคน รวมประชากรแฝงแล้วอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน จากความหนาแน่นของจำนวนประชากร ทำให้กรุงเทพมหานครต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย พื้นที่ประกอบธุรกิจการค้า การขนส่ง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ จากการเติบโตในทุก ๆ ด้าน ทั้งหมดล้วนส่งผลให้พื้นที่สีเขียวของเมืองมีปริมาณลดลง.
สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้จัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ขึ้นเพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีศักยภาพและมีจิตสาธารณะในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าบรรลุโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ในปี 2573 ใน 3 เป้าหมาย ได้แก่ 
.
1.เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตร.ม./คน 
.
2.มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร 
.
3.พื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่กทม.
.
พื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ น้อยกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า
จากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่ๆ ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตร/คน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) พบว่า กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ ขนาดใหญ่ที่สุด คือ สวนหลวง ร.9 ขนาดพื้นที่ 500 ไร่ เป็นสวนสาธารณะระดับเมือง ให้บริการประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร
.
นอกจากนั้นจะเป็นสวนสาธารณะระดับต่างๆลดหลั่นกันลงมา รวมพื้นที่สวนสาธารณะทั้งสิ้น 2,481.69 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่สวนสาธารณะต่อประชากรในกรุงเทพมหานครเท่ากับ 0.70 ตาราง เมตรต่อคน นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ว่าสัดสวนของสวนสาธารณะต่อประชากรจะต้องเท่ากับ 15 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่เมืองใหญ่ แห่งอื่นของโลกล้วนแล้วแต่มีสัดสวน สวนสาธารณะต่อประชากรสูงกว่ากรุงเทพมหานครเกือบทั้งสิ้น
.
ข้อมูลพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560) มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ 76.04 ตารางวา พื้นที่ 35,414,704.16 ตารางเมตร จำนวนประชากรของกรุงเทพฯ (จากสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง) 5,686,646 คน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร ขณะนั้นอยู่ที่ 6.23 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO มาก

.

พื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับทั่วโลก
กรุงเทพฯ ถือว่ามีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ของโลก อาทิ ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) สิงคโปร์ ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส โตเกียว โซล และกวางโจว

.

จากการสำรวจของ MIT’s Senseable City Lab และ the World Economic Forum พบว่า ประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดคือสิงคโปร์ อยู่ที่ 29.3% ซึ่งสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 ประชากร 85% จะต้องอาศัยอยู่ใกล้กับสวนในระยะไม่เกิน 400 เมตร
.
สอดคล้องกับผลสำรวจของ Economist Intelligence Unit พบว่า อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่เฉลี่ยในเอเชียอยู่ที่ 39 ตารางเมตร/คน โดยสิงคโปร์มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรสูงถึง 66 ตารางเมตร/คน ซึ่งสูงกว่ากรุงเทพฯ เกือบ 22 เท่า ทั้งที่ขนาดเนื้อที่ทั้งประเทศเล็กกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2.5 เท่า ขณะที่กัวลาลัมเปอร์อยู่ที่ 50 ตารางเมตร/คน
.
Green Bangkok 2030 ความหวังของคนกรุง
.

ถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 9 ปี ตามที่ กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงฯ ผ่านโครงการ Green Bangkok 2030 พร้อมนำร่องในเฟสแรกแล้ว จำนวน 11 โครงการ
.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน โดยจะขับเคลื่อนผ่านโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 7.08 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกนั้นกำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน
.
"สถานการณ์ตอนนี้แม้ว่ากรุงเทพฯจะยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ แต่เราก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเราคาดหวังว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการ GREEN BANGKOK 2030 จะทำให้กรุงเทพฯเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้"
.
โครงการ GREEN BANGKOK 2030 เป็นการวางแผนและมองพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าอีก 10 ปี ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละย่านจะเป็นแบบไหน พร้อมทั้งได้ทำการสำรวจพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง และที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ และสวนป่า โดยเริ่มนำร่อง (ระยะที่ 1) แล้ว จำนวน 11 โครงการ เช่น สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ 2.5 ไร่ สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหารเขตลาดกระบัง พื้นที่ 18 ไร่ และสวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล) เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ เป็นต้น
.
กทม.ประสานมือสิบทิศ ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ปตท. We!park และ Big Trees และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ โดย บริษัท ปตท. ปรับภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ยืนต้นจำนวนมากในพื้นที่อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่ และเป็นภาคีเครือข่ายหลักในการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามแนวถนนพหลโยธิน ระยะทางรวม 5.5 กม. โดยร่วมกับภาคเอกชน และสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาเส้นทางเดินเท้าตลอดระยะทางโครงการ 
.
สำหรับ We!Park และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย มีส่วนช่วยในกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน และออกแบบงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนจัดทำรูปแบบสำหรับการก่อสร้างเพื่อให้กรุงเทพมหานครนำไปจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 
.
และ Big Trees ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายที่เป็นสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมหลักสูตรการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสวนและพื้นที่สีเขียวของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตต่าง ๆ
.
พล.ต.อ.อัศวิน ย้ำว่า "กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสีเขียว และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่การก้าวไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ นั้นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ซึ่งหากท่านยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และประสงค์จะมอบให้กทม.นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.2 (ดินแดง)" 

.

ที่มา : MGR Online https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000091031