แม้วัคซีนจะช่วยพลิกโฉมการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ขณะเดียวกันโลกยังมีความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยโควิด

.
บีบีซีจะพาไปสำรวจว่าปัจจุบันเรามีความคืบหน้าเพียงใดในการรักษาโควิด และยาแต่ละชนิดมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยในช่วงอาการต่าง ๆ กันอย่างไร
.
ปัจจุบันมีการรักษาแบบใดบ้าง
ในปัจจุบันมีการรักษา 3 ประเภทใหญ่ ที่มุ่งเป้าจัดการกับเชื้อไวรัส และส่งผลต่อร่างกายคนไข้ในแบบที่แตกต่างกัน
.
- ยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) จะเข้าไปหยุดยั้งระบบภูมิคุ้มกันของเราไม่ให้แสดงปฏิกิริยาที่รุนแรงเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ยาต้านไวรัส (anti-viral drugs) จะทำให้เชื้อโรคโควิดเพิ่มจำนวนในร่างกายผู้ป่วยได้ยากขึ้น
- การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด (antibody therapies) จะทำงานเลียนแบบระบบภูมิคุ้มกันของเราในการเข้าโจมตีเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด
.
แพทย์จะใช้วิธีการเหล่านี้ รักษาอาการโควิดในขั้นที่แตกต่างกันไป อีกทั้งยังมีราคาที่แตกต่าง ตั้งแต่ราคาถูกมากไปจนถึงราคาสูงลิบลิ่ว และการรักษาบางชนิดก็ยังมีความสามารถจัดการกับเชื้อโรคโควิดกลายพันธุ์ได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ
.

ยาแก้อักเสบ

เมื่อคุณติดโควิด ร่างกายก็จะปล่อยสารเคมีออกมาเพื่อแจ้งเตือนว่าคุณกำลังถูกเชื้อโรคร้ายเข้าจู่โจม

.

สารเคมีเตือนภัยที่ว่านี้เรียกว่า "การอักเสบ" (inflammation) ซึ่งมีความสำคัญในการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณเข้ากำจัดเชื้อโรคโควิดให้หมดไป

.

แต่หากคุณไม่สามารถขจัดเชื้อไวรัสได้รวดเร็วพอ อาการอักเสบก็จะรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ และจะสร้างความเสียหายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ปอด ในที่สุด ซึ่งอาการอักเสบที่รุนแรงนี้เองคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิต

.

เดกซาเมทาโซน (dexamethasone) ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ และมีใช้อยู่ก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด ได้กลายเป็นยาชนิดแรกที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถใช้รักษาชีวิตผู้ป่วยโควิดได้

.

แพทย์จะให้ยาชนิดนี้แก่คนไข้อาการหนักที่มีปัญหาด้านการหายใจ โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่า มันช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของคนไข้ 1 ใน 5 ที่ต้องได้รับออกซิเจน และ 1 ใน 3 ของคนไข้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

.

เดกซาเมทาโซนยังมีราคาถูกจนกลายเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่บราซิลไปจนถึงจีน

.

ส่วนยาแก้อักเสบชนิดอื่นที่แสดงให้เห็นว่าใช้รักษาผู้ป่วยโควิดได้ผลเช่นกันคือ ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ
.
นอกจากนี้ ยังมียาแก้อักเสบที่มีความล้ำหน้ากว่า และพุ่งเป้าจัดการการอักเสบได้เฉพาะจุด เช่น โทซิลิซูแมบ (tocilizumab) และซาริลูแมบ (sarilumab)
.
มีการใช้ยาโทซิลิซูแมบอย่างแพร่หลายตามโรงพยาบาลในจีน อินเดีย และออสเตรเลีย
.
นอกจากนี้ยังมียาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone) ที่มีประสิทธิภาพดี แต่มีราคาแพงกว่าถึง 100 เท่า จึงทำให้มีการใช้ในวงจำกัด แม้ว่ามันจะมีราคาถูกกว่าค่ารักษาพยาบาลในหอผู้ป่วยอาการวิกฤตก็ตาม
.
กลุ่มยาแก้อักเสบใช้ได้ผลดีที่สุดสำหรับอาการป่วยในระยะหลัง แต่ยาสูดพ่นสำหรับรักษาอาการโรคหอบหืดที่เรียกว่า บูเดโซไนด์ (budesonide) ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยผู้ติดโควิดในระยะเริ่มต้นให้หายป่วยได้เร็วขึ้นในระหว่างการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
.

ยาต้านไวรัส
ยาต้านไวรัสจะมุ่งเป้าโดยตรงในการจัดการกับเชื้อโรคโควิด เพื่อไม่ให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายของคนเรา
.
ยาชนิดนี้จะควบคุมปริมาณของเชื้อไวรัสโคโรนาในร่างกายให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป ยาชนิดนี้ได้แก่
.
- ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ที่จะต้องรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ผู้ผลิตระบุว่า สามารถลดความเสี่ยงการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตของผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยงสูงได้ถึง 89%
- ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ช่วยหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดยบริษัทเมอร์ค (Merck) ผู้ผลิต ระบุว่า สามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตได้ราว 50%
ทั้งแพ็กซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์จะให้ผลดีที่สุดเมื่อรับประทานทันทีหลังจากผู้ติดโควิดเริ่มแสดงอาการป่วย
.
ไฟเซอร์คาดว่าจะสามารถผลิตแพ็กซ์โลวิดได้ 80 ล้านชุด ภายในสิ้นปี 2022 และจะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ 95 ประเทศ เพื่อผลิตและจำหน่ายยาชนิดนี้ได้ในราคาต้นทุน
.
ขณะที่เมอร์คอนุญาตให้บริษัทยา ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูกเพื่อจำหน่ายให้กลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลางและต่ำ 100 ประเทศ
.

ภูมิคุ้มกันบำบัด
วิธีการรักษานี้คือการนำสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดีเข้าสู่ร่างกายคนไข้เพื่อให้โจมตีเชื้อไวรัส
.
ยาแอนติบอดีนี้จะติดอยู่บนพื้นผิวของเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อบ่งชี้ให้ระบบภูมิคุ้มกันของคนเราตรงเข้าทำลายเชื้อโรคที่แปลกปลอม
.
ตามปกติร่างกายคนเราจะสร้างแอนติบอดีขึ้นเมื่อถูกเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าโจมตี และแอนติบอดีที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดจะถูกนำไปศึกษาให้ห้องแล็บแล้วผลิตขึ้นเพื่อนำไปให้แก่ผู้ป่วยโควิด เพื่อต่อสู้กับโรค ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า "โมโนโคลนอลแอนติบอดี" (monoclonal antibody therapy)
.
การรักษาแบบนี้มักใช้กับเฉพาะผู้ป่วยโควิดอาการหนัก ที่ร่างกายผลิตแอนติบอดีได้ไม่เพียงพอ โดยยาในกลุ่มนึ้ได้แก่
.
- โรนาพรีฟ (Ronapreve) ที่พัฒนาโดยบริษัทรีเจนเนอรอน และบริษัท โรช (Regeneron and Roche) พบว่าช่วยลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้
- โซโตรวิแมบ (Sotrovimab) ของบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ พีแอลซี (GlaxoSmithKline plc หรือ GSK) ช่วยลดความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ถึง 79% ในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง
.
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ในบางประเทศ แต่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้เตือนว่า ยาชนิดนี้ "ให้ผลเพียงเล็กน้อยหรือใช้ไม่ได้ผลเลย" ในผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล

.

ยาเหล่านี้ใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่
ยาแก้อักเสบควรใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ เพราะทำงานโดยมุ่งเป้าต่อร่างกายของเรา ไม่ใช่ต่อเชื้อไวรัส
.
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลมากกว่าว่า การรักษาแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดีจะใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ เนื่องจากเป็นวิธีการที่มุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัสมากกว่า ดังนั้นในเชิงทฤษฎีเมื่อเชื้อเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากก็อาจทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
.
อย่างไรก็ตาม บริษัท GSK ระบุว่า ได้ทดสอบยาชนิดนี้กับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว และยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษาในห้องแล็บ
.
แม้ยาต้านไวรัสจะยังมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน และดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อโอไมครอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยา แต่ก็มีความกังวลว่า หากมีการใช้ยาชนิดนี้เป็นวงกว้างก็อาจทำให้เกิดการดื้อยาขึ้นได้ในอนาคต
.
ยาชนิดอื่นที่ใช้รักษาโควิด
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่อวดอ้างว่าสามารถใช้รักษาโควิดได้ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด
.
ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นยาฆ่าพยาธิชนิดหนึ่งที่ถูกนำไปใช้รักษาโรคโควิดในหลายประเทศทั่วโลก และไม่มีหลักฐานรองรับว่าใช้ได้ผล
.
ส่วนการรักษาที่เรียกว่า "คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา" (convalescent plasma) ซึ่งเป็นการนำพลาสมาจากผู้ติดโควิด-19 ที่หายป่วยแล้ว มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดคนอื่น ก็ได้รับการพูดถึงอย่างมาก แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่าช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
.
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่ายาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และเอ็ชไอวี อาจใช้ได้ผล แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์เช่นกัน
.

ที่มา : BBC NEWS THAI https://www.bbc.com/thai/international-59539614