เป็นครั้งที่สองแล้วที่นักวิจัยได้ค้นพบสิ่งที่ดูเหมือนดวงจันทร์โคจรอยู่รอบ ๆ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น สิ่งที่นักวิจัยค้นพบในครั้งนี้มีคุณสมบัติที่บ่งบอกว่าดวงจันทร์ดวงนี้อาจมีความแตกต่างอย่างมากจากดวงจันทร์ในระบบสุริยะของเรา เช่นเดียวกับการค้นพบในครั้งแรก

ข้อมูลที่บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขององค์การนาซ่าก่อนที่จะปลดระวางในปี ค.ศ. 2018 บ่งชี้ว่า ดวงจันทร์ดังกล่าวมีขนาด 2.6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า วัตถุที่อาจจะเป็นดวงจันทร์นี้โคจรรอบดาวเคราะห์ที่รวมตัวจากกลุ่มก๊าซขนาดเท่าดาวพฤหัสบดีที่อยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราประมาณ 5,700 ปีแสง

.

ทั้งนี้ ปีแสงคือระยะทางที่แสงเดินทางในหนึ่งปี หรือราว 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร

.

เส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์ดวงนี้ทำให้มันมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์อื่น ๆ ราว 220 ดวงที่โคจรรอบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา นอกจากนี้ยังมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงจันทร์บนโลกของเรามากกว่า 9 เท่าตัวอีกด้วย

.

เดวิด คิพพิง (David Kipping) แห่งมหาวิทยาลัย Columbia University หัวหน้าการเขียนงานวิจัยที่ปรากฏในวารสาร Nature Astronomy กล่าวว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไม่ทราบเกี่ยวกับจักรวาลวัตถุนี้ เช่นมันอาจมีลักษณะเป็นแกนหินที่มีเปลือกนุ่มบาง ๆ หรือมีบรรยากาศที่หนาทึบไปจนถึงแกนกลางที่มีความหนาแน่นสูง เป็นต้น

.

เทียบกันแล้ว ดวงจันทร์ในระบบสุริยะของเราเป็นวัตถุที่มีลักษณะเป็นหินหรือเป็นน้ำแข็งทั้งหมด

.

นักวิจัยกล่าวว่า มีการค้นพบ exoplanet หรือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราเกือบ 5,000 ดวง แต่พบ exomoon หรือดวงจันทร์นอกระบบสุริยะเพียง 2 ดวงเท่านั้น นั่นไม่ใช่เพราะว่าดวงจันทร์เป็นวัตถุที่หาได้ยากกว่าในระบบสุริยะอื่น ๆ แต่เป็นเพราะว่าโดยทั่วไปแล้วดาวเคราะห์จะมีขนาดใหญ่กว่าและค้นหาได้ง่ายกว่าเท่านั้นเอง

.

ทั้งนี้ ดวงจันทร์นอกระบบสุริยะดวงแรก ซึ่งถูกค้นพบในปี 2018 โดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกันและยังคงรอการยืนยันอยู่นั้นยิ่งมีขนาดใหญ่กว่า โดยมีขนาดประมาณดาวเนปจูนของระบบสุริยะของเรา และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 8,000 ปีแสง ดูเหมือนว่า exomoon ดวงนี้จะประกอบไปด้วยก๊าซต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกับดวงจันทร์ในระบบสุริยะของเรา

.

คิพพิง กล่าวว่า Exomoons คือ Terra Incognita ซึ่งเป็นคำในภาษาละตินหมายถึงดินแดนที่ไม่รู้จัก

.

นักวิจัยศึกษาดาวเคราะห์ก๊าซนอกระบบขนาดยักษ์ที่เย็นจัดจำนวน 70 ดวงบนวงโคจรกว้างรอบดาวฤกษ์แม่ โดยทราบว่าดาวเคราะห์สองดวงในระบบสุริยะของเราซึ่งก็คือดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ต่างมีดวงจันทร์หลายดวง

.

นักวิจัยใช้วิธี "transit method" หรือวิธีวัดการเคลื่อนผ่านหน้า ที่มักใช้เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของความสว่างของดาวฤกษ์ ที่เกิดจากการที่ดาวเคราะห์และดวงจันทร์นอกระบบโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เป็นรอบ ๆ

.

อเล็กซ์ ทีเชย์ (Alex Teachey) ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้ จากสถาบัน Academia Sinica Institute of Astronomy & Astrophysics (ASIAA) ในไต้หวัน กล่าวว่า นี่เป็นการค้นพบดวงจันทร์นอกระบบที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ว่าอาจมีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ในระบบดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่เราอาจสามารถตรวจพบได้

.

ที่มา : นักวิทย์ค้นพบดวงจันทร์ในระบบสุริยะจักรวาลอื่น (voathai.com)