คนที่มีภาวะแพ้อาหาร ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ถั่ว นม หรืออาหารทะเลหลากชนิด แม้จะต้องคอยระมัดระวังการกิน ไม่ให้ร่างกายได้รับสารที่แพ้ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่อาการดังกล่าวกลับมีข้อดีอย่างคาดไม่ถึง เมื่องานวิจัยล่าสุดพบว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ต่ำกว่าคนทั่วไปอย่างมาก

.

งานวิจัยข้างต้นจัดทำโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Journal of Allergy and Clinical Immunology หลังมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 4,000 คน ซึ่งล้วนอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีเด็กและวัยรุ่นรวมอยู่ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมวิจัยได้สังเกตถึงแนวโน้มการติดต่อ และการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิดภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งเพศ วัย สุขภาวะ และโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนแล้ว

.

นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการ NIH ระบุว่า "ทีมนักวิทยาศาสตร์ของเราประหลาดใจอย่างมาก เมื่อพบว่าผู้มีภาวะแพ้อาหาร ติดเชื้อก่อโรคโควิดต่ำกว่าผู้อื่นถึงราว 50% นับว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป"

.

กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้ถูกติดตามศึกษาเป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่างเดือน พ.ค. 2020 - ก.พ. 2021 โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีอาการแพ้ในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ก่อนแล้ว ทั้งโรคหอบหืด ผิวหนังอักเสบ แพ้อาหาร รวมทั้งจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แต่ดูเหมือนว่ามีเพียงกลุ่มผู้แพ้อาหารและผู้ป่วยโรคหอบหืดบางรายเท่านั้น ที่สามารถต้านทานการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้

.

การค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ซึ่งชี้ว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดชนิดที่เกิดจากภูมิแพ้รุนแรง (atopic asthma) มีแนวโน้มติดเชื้อไวรัสโควิดและล้มป่วยด้วยอาการหนักต่ำกว่าคนทั่วไป ส่วนงานวิจัยล่าสุดของ NIH ก็พบว่า โรคหอบหืดเองไม่ได้เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยโรคโควิด เหมือนกับปัจจัยบางอย่างเช่นโรคอ้วนและช่วงอายุ แม้ว่าหอบหืดจะเป็นโรคทางเดินหายใจก็ตาม

.

ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่าภาวะแพ้อาหารและโรคหอบหืดที่เกิดจากภูมิแพ้รุนแรง ทำให้ร่างกายต้านทานการติดเชื้อไวรัสโควิดได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้มีตัวรับ ACE2 ที่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจน้อยมาก ทำให้เชื้อไวรัสไม่อาจหาที่จับเพื่อเข้าสู่เซลล์ปอดได้มากนัก

.

ในกรณีของคนที่แพ้อาหาร ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า "การอักเสบประเภทที่ 2" (type 2 inflammation) ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้แพ้อาหารโดยเฉพาะ ทำให้จำนวนของตัวรับ ACE2 ในทางเดินหายใจลดลง จนแทบจะไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อเลย แม้ร่างกายจะได้รับเชื้อไวรัสโควิดเข้าไปแล้วก็ตาม

.

ทีมผู้วิจัยหวังว่าจะได้ศึกษาถึงกลไกเฉพาะของภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสามารถต้านทานการติดเชื้อนี้ต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีป้องกันการระบาด รวมทั้งรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/features-61680914