ภาพจำลองระบบดาว HD 98800 ซึ่งคล้ายคลึงกับ TIC 470710327 ในระยะแรก ก่อนดาวรอบนอกจะกลืนกินคู่ของมัน

ทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันนีลส์โบร์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ค้นพบปรากฏการณ์ที่ระบบดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ 3 ดวง ซึ่งตั้งอยู่ชิดติดกันมากผิดปกติ ได้กลืนกินดาวฤกษ์ดวงที่ 4 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบด้วย

.

นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นการรวมตัวของดาวฤกษ์ในลักษณะนี้ โดยทราบได้จากการอ่านข้อมูลที่ดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (TESS) ขององค์การนาซาได้บันทึกไว้

.

ระบบดาวฤกษ์ 3 ดวงดังกล่าว ได้แก่ระบบ TIC 470710327 ที่มีมวลของดาวคู่ตรงใจกลางมากกว่าดวงอาทิตย์ 12 เท่า ส่วนดาวดวงที่ 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและโคจรวนรอบดาวคู่อีกทีนั้น มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 16 เท่า

.

ในบางครั้งดาวเคราะห์อาจโคจรวนรอบดาวฤกษ์หลายดวง เหมือนดาวทาทูอีนในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars

ดาวฤกษ์ยักษ์ภายในระบบดังกล่าวทั้ง 3 ดวง มีวงโคจรเบียดชิดติดกันมาก เนื่องจากมวลมหาศาลทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างกันมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังโคจรวนรอบกันและกันด้วยความเร็วสูง โดยดาวฤกษ์ตรงใจกลางระบบใช้เวลาโคจรวนรอบคู่ของมันเพียง 1 วันเท่านั้น ส่วนดาวฤกษ์ที่อยู่รอบนอกใช้เวลา 52 วัน โคจรวนรอบดาวคู่ใจกลางระบบ

.

ทีมผู้วิจัยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ทดสอบสมมติฐาน 3 แบบ ซึ่งอธิบายถึงกระบวนการก่อกำเนิดของระบบดาวฤกษ์นี้ โดยพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ในอดีตมันจะเป็นระบบดาวฤกษ์ 2 คู่ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 4 ดวงมาก่อน แต่ในภายหลังดาวฤกษ์ดวงที่ใหญ่กว่าของดาวคู่รอบนอก ได้กลืนกินดาวดวงที่เล็กกว่าไปเสีย ทำให้ปัจจุบันดาวฤกษ์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสมาชิก 3 ดวงของระบบ

.

ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ชององค์การนาซาสันนิษฐานว่า ระบบดาวฤกษ์ 3 ดวงนั้นหาพบได้ทั่วไปในจักรวาล โดยอาจมีอยู่มากถึง 10% ของระบบดาวแบบต่าง ๆ เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย.ของปีที่แล้ว ก็มีการค้นพบดาวเคราะห์ที่โคจรวนรอบระบบดาวฤกษ์ 3 ดวงเป็นครั้งแรกด้วย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/crg0wgkrxg8o