มีนักวิชาการและผู้บริหารในหลายประเทศที่มีความเชื่อมาตลอดว่า การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single -use plastic) เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Biodegradable plastic) คือทางเลือกที่ดีกว่าต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้กลับระบุว่า ไม่พบความแตกต่างที่เพียงพอในกรณีของสิงคโปร์

หีบห่อและถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้อาจจะสลายตัวเร็วกว่าพลาสติกโพลีเอธีลีน และอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกดูเหมือนว่าไม่ได้กระทบต่อสภาพแวดล้อมมากนัก แต่ผลการศึกษากรณีของประเทศสิงคโปร์พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเผาพลาสติกแบบย่อยสลายได้กลับแพงกว่าเดิม เนื่องจากทางเลือกที่ผลิตพลาสติกประเภทย่อยสลายเองได้มาจากทรัพยากรการผลิตมากกว่า ซึ่งทำให้ต้นทุนของหีบห่อพลาสติกทางเลือกนี้แพงกว่าเดิม
จากรายงานของ BIOPLASTICS NEWS เรื่อง Biodegradable Plastic Alternatives Net Necessary Better for Singapore, Say Expert พบว่ากรณีของสิงคโปร์มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าขยะจากผลิตภัณฑ์อยู่ในกลุ่มที่ต้องกำจัดด้วยการเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน และไม่ได้รับยกเว้นให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ จึงไม่ทำให้ต้นทุนในส่วนของการเผาขยะไม่ได้แตกต่างกัน และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจากการเผาขยะก็ไม่ได้แตกต่างกัน
ยิ่งกว่านั้น การใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยเฉพาะประเภท Oxo-biodegradable กลับรบกวนและเป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการรีไซเคิลเมื่อขยะของพลาสติกทางเลือกนี้ไปปะปนกับพลาสติกแบบเดิมๆ แม้ว่าพลาสติกแบบย่อยสลายได้จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้เร็วในรูปของ “ไมโครพลาสติก” แต่ไม่ง่ายในการแตกตัวในระดับโมเลกุลหรือโพลีเมอร์ จึงทำให้ไมโครพลาสติกยังคงตกค้างในสภาพแวดล้อมตลอดไปจนกว่าจะเกิดการแตกตัวครบถ้วนสมบูรณ์
ทำให้สหภาพยุโรปที่จัดทำรายงานผลดีผลเสียของพลาสติกชนิด Oxo มีข้อสรุปชัดเจนว่า หีบห่อชนิดนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและห้ามใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 เช่นเดียวกับการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีผลใช้บังคับจริงในปี 2021
แม้ว่าผลการศึกษาในสิงคโปร์จะชี้ว่า พลาสติกทางเลือกประเภทย่อยสลายได้จากแสงแดดจะไม่ได้สร้างผลที่แตกต่างต่อสภาพแวดล้อม แต่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนไม่น้อยในสิงคโปร์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลการดำเนินธุรกิจและลงทุนธุรกิจไปใช้พลาสติกกลุ่ม biodegradable เรียบร้อยแล้ว
การศึกษาของ Bread Talk Group ที่ถือว่าเป็นผู้ประกอบการชั้นนำและกลุ่มผู้บุกเบิกในการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ ยังคงยืนยันว่า จะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนของหีบห่อพลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคต่อไป และพบว่าการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลาสติกย่อยสลายได้เป็นไปได้ยากในธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่ยังคงใช้ฝาปิดและหีบห่อพลาสติก เพราะง่ายในการบริหารจัดการมากกว่าทางเลือกอื่น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการหีบห่ออาหาร Neo Group ที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตมาใช้พลาสติกย่อยสลายได้ จากวัสดุข้าวโพดมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งมีรายงานว่าต้นทุนของการปรับเปลี่ยนสู่พลาสติกย่อยสลายได้ ทำให้ต้นทุนของกิจการสูงขึ้น แต่กิจการยอมรับภาระนี้เพราะมีความเชื่อว่าการปรับตัวครั้งนี้จะช่วยดูแลสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น ซึ่งได้รวมถึงการมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเข้าสู่สังคม Paperless และลดการใช้พลาสติกลง 80% ในการดำเนินงานประจำวัน
ความเชื่อดังกล่าว สวนทางกับผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญว่าการใช้พลาสติกย่อยสลายได้กลับสร้าง carbon footprint สูงกว่าเดิมจากการผลิตพลาสติกทางเลือกนี้ และแม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะส่งเสริมความเชื่อนี้ด้วยการใช้พลาสติกใหม่ทั้งหมด กับแทบไม่มีผลให้ carbon footprint หรือภาวะก๊าซเรือนกระจกลดลงแต่อย่างใด เพราะการแตกตัวของพลาสติกแบบย่อยสลายได้ ไม่ได้เกิดจากแสงแดดในธรรมชาติ แต่ยังต้องผ่านกระบวนการเผาเป็นเถ้าถ่านด้วยวิธีพิเศษ และไม่ชัดเจนว่าจะสามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ทำการผลิตพลาสติกทางเลือกนี้ คือกลุ่มที่ควรจะรู้ดีที่สุดว่าผลผลิตของตนเป็นสิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงหรือไม่ ตามกฎหมายของสิงคโปร์
ประการที่ 1 ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ภาคธุรกิจต่างๆ ทุกประเภทจะต้องนำส่งรายงานรูปแบบของหีบห่อและปริมาณของหีบห่อที่ได้ป้อนจำหน่ายสู่ตลาดแก่ NEA (National Environment Agency) และนำเสนอแผนงานที่จะลดปริมาณการใช้ โดยครอบคลุมผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ผู้ประกอบการผลิต ผู้นำเข้าหีบห่อ และสินค้าพร้อมหีบห่อ และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีมูลค่าทางการค้าเกินกว่า 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ประการที่ 2 รัฐบาลได้ขยายกรอบความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อขยะหีบห่อที่มาจากธุรกิจของตน โดยจะเริ่มมีผลในปี 2025 เป็นต้นไป
แม้ว่าจะมีการควบคุมทางกฎหมายมากขึ้น แต่ผลการศึกษาของ Assistant Professor Marvin Montefrio ที่ Yale-NUS ยังคงเชื่อว่าสิงคโปร์ไม่อาจกำจัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ทั้งหมด เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดผลิตพลาสติกที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้จากภาคการค้าปลีก แม้ว่าจะควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่หีบห่อแบบเดิมนี้ ก็ยังคงมีความจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการหีบห่ออาหารและในสินค้าประเภทยา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องยอมรับประเด็นนี้ว่า บางภาคธุรกิจพลาสติกอาจจะจำเป็นอยู่และการปรับเปลี่ยนนั้นทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนยุ่งยาก ไม่สะดวก ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะสำเร็จ จึงควรเลิกสมมติฐานว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะต้องถูกกำจัดและแทนที่ด้วยพลาสติกแบบย่อยสลายได้ทั้งหมด
นักวิชาการเชื่อว่าสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตนเองไปสู่พลาสติกแบบย่อยสลายได้ทั้งหมด เพราะสิงคโปร์มีจุดแข็งและได้เปรียบจากการที่มีพื้นที่ขนาดเล็กทำให้การบริหารจัดการขยะได้ง่าย และรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขัน ด้วยบทลงโทษที่รุนแรงในการทิ้งขยะอยู่แล้ว ทำให้ขยะเกือบทั้งหมดมีการจัดเก็บสู่กระบวนการจัดการ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ยังทิ้งขยะในระบบเปิดจนกระจายเรี่ยราดไปทั่ว หรือทิ้งขว้างไว้ตามพื้นดินโดยปราศจากการบริหารจัดกำรขยะที่ดี ซึ่งอาจจะต้องใช้พลาสติกยอยสลายได้เพื่อให้ย่อยสลายได้โดยเร็ว รวมถึงกลุ่ม OXO และพลาสติกที่ย่อยสลายได้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นหากการจัดการขยะใช้การเผาเป็นเถ้าถ่าน ในทำนองเดียวกัน ความพยายามในการหาวัสดุทางเลือกอื่นมาทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ได้ช่วยให้ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมดีขึ้นแต่อย่างใด ทำให้พลาสติกยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อการใช้งานประจำวัน หากมีการบริหารจัดการเก็บขยะที่ดีและมีประสิทธิผล

ที่มา : Manager online 12 พฤศจิกายน 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000108610]